สภาเกษตรกรฯแม่ฮ่องสอนหนุน “ถั่วลายเสือ” GI ประจำถิ่น

ด้วยคุณประโยชน์ของถั่วคือบำรุงสมองและประสาทตา เสริมสร้างความจำ ลดความดันโลหิตสูงและป้องกันมะเร็ง รสชาติมันถูกปาก ถูกใจ แล้วถ้ายิ่งมีลวดลายก็ยิ่งได้อรรถรสในการลิ้มลอง “ถั่วลายเสือ” ตอบโจทย์นั้นได้ นายเธียรชัย แซ่จู  สมาชิกกลุ่มพัฒนาสินค้าเกษตรบ้านหนอง ผาจ้ำ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า “ถั่วลายเสือ” หรือ “ถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2” ในท้องถิ่นปลูกกันมานานเรียกกันหลายชื่อ เช่น ถั่วราชินี ถั่วพระราชทาน ถั่วจัมโบ้ลาย และถั่วลายเสือ  ลักษณะเด่นคือ เมื่อแกะฝักถั่วออกเมล็ดของถั่วลายเสือจะมีเยื่อหุ้มเมล็ดคล้ายกับลายหนังเสือโคร่ง มีรูปร่างฝักสวย รูปฝักยาวมีจำนวน 2-4 เมล็ดต่อฝัก ถั่วรุ่นหนุ่มจะมีเมล็ดสีขาวและเริ่มมีลายพอใกล้ช่วงเก็บเกี่ยว ลายและสีจะชัดมากขึ้น รสชาติค่อนข้างหวาน กรอบนุ่มกว่าถั่วลิสงทั่วไป  ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย 580 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตต่อปี 500 – 600 ถัง  1 ถัง นน. 10 กิโลกรัมฝักดิบ ต้นทุนต่อถัง 65 -70 บาท ขายเฉลี่ยราคา 120 – 200 บาท/ถัง ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตแต่ละปี โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่ โรคที่พบในพื้นที่คือ โรคใบแห้งโคนแห้งซึ่งไม่ร้ายแรงต้นยังคงให้ผลผลิตอยู่แต่จะน้อยกว่าเดิมเท่านั้น ส่วนแมลงที่รบกวนคือ แมลงเจาะ เจาะเข้าฝักกินเมล็ดแต่พบไม่มากเกษตรกรจะปล่อยตามธรรมชาติไม่ได้ทำการกำจัด ด้านการบำรุงใช้วิธีไถกลบเพราะต้นถั่วบำรุงดินอยู่แล้ว บางฤดูกาลมีคนมาเหมาแปลงเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก ขายยกแปลงๆละ 1,000 – 2,000 บาท ปลูกได้ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนเพราะชอบอากาศเย็นบางปีหากอากาศไม่เย็นจะปลูกได้ผลผลิตน้อยและแทบไม่ได้เลย ดินต้องมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง เช่น ดินร่วน หรือร่วนเหนียว และมีการกระจายตัวของฝนดี เหมาะสำหรับการปลูกในเขตภาคเหนือตามที่ราบเชิงเขา สามารถปลูกได้ 2 รอบ/ปี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน

ด้านนางสาวรดาณัฐ  อุปนิชากร หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินโครงการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลสบป่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เกษตรกรได้สะท้อนปัญหาเด่นในตำบลคือ ราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรจึงเข้าหารือกับทางสกจ.แม่ฮ่องสอนในการหาแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหา จึงได้แนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่ม ภายใต้ชื่อ “กลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรหนองผาจ้ำ มีสมาชิก 30 ราย ปัจจุบันกลุ่มพัฒนาฯได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเตรียมพร้อมปรับตัวเป็นเกษตรอุตสาหกรรม โดยความต้องการของกลุ่มคือการรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย มีไซโลสำหรับเก็บผลผลิต การแปรรูปผลผลิต และทางสกจ.แม่ฮ่องสอน ได้เตรียมต่อยอดด้วยการสร้าง GI ถั่วลายเสือ ให้คำแนะนำถึงการก้าวสู่ SME รวมถึงการแปรรูปผลผลิต และอื่นๆต่อไป ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5368-6218 หรือนายเธียรชัย แซ่จู โทร.09-1303-7371