บูม “จังหวัดกระบี่” เมืองสปาน้ำพุร้อนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

กระบี่เดินหน้าพัฒนาเมืองต้นแบบธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “น้ำพุร้อน” แบบครบวงจร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งศึกษาเมืองสปา เตรียมชงคณะรัฐมนตรีไฟเขียวพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ 

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำเมืองต้นแบบสู่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อนแบบครบวงจรนำร่องในจังหวัดกระบี่ ว่า นโยบายรัฐบาลต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่ออนาคตในลักษณะ New S -curve ในอุตสาหกรรมกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ

นอกจากนั้น การท่องเที่ยวที่ให้การสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ ในแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมกำลังเป็นที่นิยม และสะท้อนถึงแนวโน้มตลาดท่องเที่ยวที่หันมาให้ความสำคัญกับ Wellness Tourism มากขึ้น และจะเติบโตควบคู่ไปกับตลาด Medical Tourism ซึ่งเป็นตลาดหลักของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของโลกมาโดยตลอด ปัจจุบันในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาถึง 29.9 ล้านคน มีจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำของไทยถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดในประเทศไทย เช่น แม่ฮ่องสอน ภูเก็ต เลย และหวังว่าจังหวัดกระบี่ จะได้รับการจัดอันดับต่อไป”

นายแพทย์ภานุวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับประเทศได้อย่างมาก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical & Wellness Tourism และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ. 2560-2569 ระยะ 10 ปี ซึ่งเป็นฉบับที่ 3 มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.medical service hub 2.wellness hub 3.academic hub และ 4.product hub

ทั้งนี้ มีโครงการสำคัญในระยะเร่งด่วนเป็นวาระแห่งชาติคือ การพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนให้เป็นเมืองสปา และเส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อนของไทย โดยนำร่องในจังหวัดกระบี่ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และนำมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี

สำหรับเมืองสปาต้นแบบนี้จะเน้นการพัฒนาอัตลักษณ์ จุดขาย การเข้าถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนารูปแบบกิจกรรม และแพ็กเกจบริการอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว โดยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับวิถีการดูแลสุขภาพแบบไทย และทำการตลาดในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้

“การเป็น Spa Town จะต้องมีการวางผังเมือง ปรับปรุงสถานที่ให้มีความพร้อม พัฒนาโมเดลธุรกิจ สร้างเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในกระบี่และจังหวัดอื่น ๆ ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหวังให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการ สร้างอาชีพให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งข้อสรุปครั้งนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” นายแพทย์ภานุวัฒน์กล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์