ผวจ.น่าน สั่งสแกนสารตกค้างแวดล้อม ผวาเหตุชาวบ้านล้มป่วย หนุนเกษตรอินทรีย์

เมื่อวันที่ 28 กันยายน น.ส.จิตตานันท์ กิจวรสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตร จ.น่าน เปิดเผยหลังจากมหาวิทยาลัยนเรศวรมาทำวิจัย และผู้ว่าราชการจังหวัดน่านให้ประชาสัมพันธ์เตือนเกษตรกร ใช้สารเคมีมากปริมาณกว่า 1.8 ล้านลิตร เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ 8 แสนไร่ ใช้เฉลี่ยไร่ละ 3 ลิตร กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นกว้างขวาง เกรงสารเคมีอาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและภูเขาหัวโล้นว่า เป็นประเด็นร้อนที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัว เรียกร้องให้ดูแลวิถีความเป็นอยู่ส่วนรวมอย่างจริงจัง ดังนั้นปีงบประมาณใหม่ 2560 นี้ จึงกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้เสียคือผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดศัตรูพืช หรือสารฆ่าแมลง เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวในลักษณะ “ซีเอสอาร์” หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคราชการ เกษตรกร ทำแผนภายใต้ภารกิจที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิตตามค่าวิเคราะห์ดิน และลด ละ เลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด

“ประการที่สองโฟกัสไปที่รณรงค์และส่งเสริมอย่างจริงจัง ให้ใช้สารชีวพันธุ์ทดแทนสารเคมี ตอนนี้เราได้งบพัฒนาจังหวัดมาทำโครงการ ส่งเสริมผลิตพืชผักผลไม้ปลอดภัยเป็นรายชุมชน โดยหาหมู่บ้านหรือตำบลต้นแบบที่เป็นคนรุ่นใหม่ หันกลับมาเอาดีทางอาชีพเกษตรหรือยังสมาทฟาเมอร์ของเรา โดยเน้นเรื่องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ตั้งธงไว้จะผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ตลาดที่มีรองรับอยู่แล้ว นอกจากสำนักงานเกษตร จ.น่าน ยังมีตลาดประชารัฐและห้างบิ๊กซี แบ่งพื้นที่ให้จำหน่ายสลับวันกันทุกสัปดาห์” น.ส.จิตตานันท์กล่าว และว่า เกษตรกรต้นแบบดังกล่าว เช่น “ผู้ใหญ่บรรจง ไชยยงค์” ปราชญ์ชาวบ้าน ต.บ้านฟ้า อ.บ้านหลวง จ.น่าน ผู้คิดค้นน้ำหมักปลอดภัยผสมอีเอ็มแทนสารเคมี และมีคุณสมบัติใช้เป็นปุ๋ยช่วยเพิ่มผลผลิตได้ด้วย โดยเกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดวิธีเหมาะสม สามารถปลดหนี้ได้กว่า 5 แสนบาทภายในฤดูเพาะปลูกเดียว เป็นวิทยากรจิตอาสาคนหนึ่งที่ออกไปเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและนอกจังหวัด” น.ส.จิตตานันท์ กล่าว

น.ส.จิตตานันท์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา จ.น่านใช้สารเคมีแบ่งเป็นกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า สารกำจัดโรคและฆ่าแมลง มีปัญหาค่อนข้างเยอะเนื่องจากใช้ไม่ถูกตามชนิด อัตราและเวลาที่เหมาะสม ใช้เกินความจำเป็นหรือ “โอเว่อร์โด๊ด” ใช้พร่ำเพรื่อเพราะหาซื้อง่าย สะดวก แต่ยิ่งใช้มากต้นทุนก็มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเรามีสำนักงานเกษตรอยู่ทุกอำเภอ องค์กรในพื้นที่หรือ อกม. จะเชื่อมระหว่างราชการกับเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ มีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน(ศจช.) ศูนย์จัดการดิน ปุ๋ยชุมชน รวมถึงศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรระดับตำบล ใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรได้เข้าใจ เข้าถึง เพื่อให้มีส่วนร่วมกันพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ล่าสุดเมื่อ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา เกิดกระแสร้อนแรงดังกล่าวซึ่งสรุปได้แล้วว่าที่เป็นปัญหาที่สุดคือยาฆ่าหญ้า 3 ตัว ได้แก่ไกลโฟเสต (ประเภทดูดซึม) พาราคว็อท (ประเภทเผาไหม้) ทำลายพืชสีเขียวที่มีคลอโรฟิลล์จนแห้งตาย และอาทราซีน หรือยาคุมหญ้า ส่วนปัญหารองลงมาคือสารกำจัดแมลง หรือคลอร์ไพริฟอส ทั้งหมดนี้พบปนเปื้อนอยู่ในร่างกายของเกษตรกรและผู้บริโภค จึงเป็นประเด็นสงสัยถึงโรคต่างๆ จ.น่าน ทั้งโรคมะเร็ง ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคไต เกิดจากสารเคมีเหล่านี้อย่างไรหรือไม่ และอยู่ในวาระจะต้องพิสูจน์ทราบร่วมกันต่อไปอีก โดยเฉพาะสารตกค้างหรือปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ได้มีการเผยแพร่ผลศึกษาการใช้สารเคมีในเกษตรกรรม จ.น่าน โดยอ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ระบุว่าปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกสำรวจหาข้อมูลแหล่งน้ำต่างๆ มาชี้แจงให้สาธารณะเข้าใจ เนื่องจากสาธารณชนเริ่มสงสัยสถิติสูงที่ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต ความดันโลหิต ฯลฯ โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดได้รับผลกระทบมากจากความหวาดระแวงดังกล่าว ประกอบกับเมื่อหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานสาธารณสุข จ.น่าน ได้สุ่มสำรวจพบทุกสาขาอาชีพมีสารฆ่าแมลง ปนเปื้อนอยู่ในกระกระแสเลือดขั้นเสี่ยงอันตราย

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บตัวอย่างน้ำล่าสุด 11 แหล่งและที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปา ส่งไปตรวจสอบในห้องแล็ป สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร(สวพ.) เขต 1 เชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร และเอกชนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม. ยืนยันว่า น้ำดังทั้งหมดมีค่าความปลอดภัยและไม่เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แต่ยังสงสัยกันถึงความเบี่ยงเบนต่างๆ ที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ สำนักงานเกษตร จ.น่านในฐานะเลขาคณะกรรมการ จึงยังได้รับมอบภารกิจให้ขยายตรวจแหล่งน้ำอีกต่อไปอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อหาความเข้มข้นสารเคมีในแต่ละช่วงฤดูเกษตรกรรม และประกอบโครงการรณรงค์ลด ละ เลิกใช้สารเคมีด้วย.