Waste to Energy จากของเหลือใช้ สู่พลังงานทดแทน สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร

ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศกสิกรรมสำคัญของโลก และตอนนี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่มีการผลิตและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องและหลากหลายอีกด้วย โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากพืชผลทางการเกษตร
          ในอดีตหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูปเพื่อจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ยังมีของเหลือใช้ทางการเกษตรมากมายที่ถูกทิ้งไว้รอวันย่อยสลายอย่างไร้ประโยชน์ แต่ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนได้หันมาผลิตพลังงานทดแทนโดยใช้ของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมการเกษตรมากขึ้น โดยพลังงานทดแทนที่ผลิตจะอยู่ในรูปชีวมวล (Biomass) และก๊าซชีวภาพ (Biogas) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือใช้เหล่านั้นมหาศาล

image01-5

ก๊าซชีวภาพ : พลังงานทดแทนสะอาดจากของเหลือใช้
          ก๊าซชีวภาพ (Biogas) เป็นพลังงานทดแทนสะอาดที่เกิดจากการนำของเสีย เช่น มูลสัตว์ น้ำเหลือใช้จากฟาร์มปศุสัตว์ หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม ขยะ และของเหลือใช้ทางการเกษตร มาผ่านกระบวนการหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ในภาวะไร้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) โดยใช้แบคทีเรียหลายชนิดในการบำบัดก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนของหม้อต้มไอน้ำทดแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียม เช่น น้ำมันเตา และใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
          การนำน้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ น้ำที่ผ่านระบบบำบัดแล้วสามารถนำไปใช้ทำเป็นปุ๋ยน้ำได้ ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมจะบริหารจัดการน้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของโรงงานในรูปแบบนี้ โดยเฉพาะโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานผลิตเอทานอล ที่ส่วนใหญ่จะนำน้ำที่ผ่านระบบการผลิตก๊าซชีวภาพแล้ว ส่งผ่านท่อให้กับเกษตรกรละแวกใกล้เคียงเพื่อเป็นปุ๋ยน้ำ ซึ่งปุ๋ยน้ำที่ได้เต็มไปด้วยธาตุอาหารที่พืชต้องการ เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก

image03-3

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล
ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
          กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังและเอทานอล ด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัยครบวงจรได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำผลพลอยได้ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ น้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิต และกากมันสำปะหลัง นำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน
          ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้ใช้ระบบการผลิตก๊าซชีวภาพที่ทันสมัยและครบวงจรที่สุดในประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ระบบ ตามความเหมาะสมของวัตถุดิบ โดยในส่วนของกากมันสำปะหลังจะใช้ระบบ CLBR (Covered Lagoon Bio-Reactor) ส่วนน้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเอทานอลใช้ระบบ MUR (Methane Upflow Reactor) และน้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังใช้ระบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket) ซึ่งจะผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงถึง 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการอบแป้งทดแทนการใช้น้ำมันเตา บางส่วนใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงานและจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

image06-2

ต่อยอดน้ำปุ๋ยสำหรับเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาเรื่องน้ำในการเพาะปลูก
          สำหรับน้ำที่ผ่านระบบผลิตก๊าซชีวภาพแล้ว จะถูกส่งไปพักที่บ่อผึ่งแบบธรรมชาติที่มีทั้งหมด 6 บ่อ เพื่อให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จากนั้นน้ำในบ่อสุดท้ายจะนำมาใช้ประโยชน์ใน “โครงการชลประทานน้ำปุ๋ยเพื่อการเกษตร” ส่งผ่านท่อตรงถึงพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรกว่า 200 ครอบครัวในรัศมีรอบโรงงาน เป็นปุ๋ยน้ำอย่างดีสำหรับบำรุงพืช สามารถเพิ่มผลผลิตทางเกษตร และลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินการเรื่องน้ำปุ๋ยได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

image05-3

ส่วนกากมันสำปะหลังจัดเป็นอีกวัสดุเหลือใช้ที่ต่อยอดในการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้อย่างชัดเจน ซึ่งในพื้นที่ใกล้ๆ นับเป็นความโชคดีของเกษตรกรที่มีหน่วยงานภาครัฐ สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นส่งเสริมนโยบายการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตด้วยการให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักใช้เองแทนการซื้อปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง และส่งผลต่อการปนเปื้อนในดินในระยะยาว จึงจัดทำปุ๋ยหมักจากกากมันสำปะหลัง นำไปผสมกับมูลสัตว์ แกลบ ฯลฯ พร้อมใส่จุลินทรีย์ที่เรียกว่า สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จนเป็นปุ๋ยหมักที่มีจุลธาตุ สามารถเป็นอาหารต่อพืชทุกชนิดที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

Advertisement

image04-3

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมการเกษตร และด้านการพัฒนาชุมชน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตลอดไป