เผยแพร่ |
---|
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการดูแลราคายางพารารวม 7 โครงการ ภายใต้ราคาเป้าหมาย 65 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ซึ่ง 5 โครงการอนุมัติตามมติ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2560 ดังนี้คือ 1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราวงเงิน 10,000 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน 0.36% ต่อปี หรือ 36 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 3 ปี รวม 108 ล้านบาท เดิมครม. ให้ใช้เงินจากกองทุนพัฒนายางพารา แต่กนย. เห็นว่าตามกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเสนอครม. ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณค่าเบี้ยประกันแทน และสนับสนุนค่าบริหารโครงการ 0.14% ด้วย
2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางวงเงิน 20,000 ล้านบาทเป้าหมายดูดซับยาง 350,000 ตัน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนม.ค. 2561-ธ.ค. 2562 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ไม่เกิน 3% ต่อปี
3. โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้สำรวจปริมาณความต้องการใช้ยางของหน่วยงานรัฐใน 7 กระทรวงมีเป้าหมาย 200,000 ตัน จะใช้งบประมาณรับซื้อยางใหม่จากเกษตรกร 12,000 ล้านบาท โดยใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
4.โครงการควบคุมปริมาณผลผลิต มีเป้าหมายจะลดพื้นที่การปลูกยางถาวร 200,000 ไร่ และลดพื้นที่ปลูกยางชั่วคราวอีก 200,000 ไร่ รวม 400,000 ไร่ โดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนายางพารา และลดปริมาณผลผลิตยางของหน่วยงานภาครัฐที่มีสวนยางจำนวน 121,000 ไร่ ใช้งบกลางมาดำเนินการ 303 ล้านบาท และ
5.โครงการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางระหว่างกยท.และผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 บริษัท มีเงินตั้งต้น 1,200 ล้านบาท มอบหมายให้กยท.หารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนไปตั้งกองทุนต่อไป
และ ทบทวนมติครม.เดิม 2 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางสำหรับขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ให้กับผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางชั้นปลายน้ำ ส่วนนี้ครม. เคยอนุมัติวงเงินสินเชื่อไว้แล้ว 15,000 ล้านบาท และกำหนดให้สมัครเข้าร่วมโครงการถึงเดือนก.ย. 2559 ขณะนี้ยังเหลือวงเงินอยู่ 6,112 ล้านบาท จึงให้ขยายเวลารับสมัครไปถึงเดือนมิ.ย. 2561
สำหรับอีกโครงการคือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้สถาบันเกษตรกร ซึ่งกำหนดวงเงินสินเชื่อไว้ 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี รัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ สนับสนุนดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร 0.49% ต่อปี เนื่องจากตามพ.ร.บ.สหกรณ์กำหนดให้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ช่วยเหลือได้เฉพาะสถาบันเกษตรกรที่เป็นสหกรณ์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนไม่สามารถรับเงินอุดหนุนดอกเบี้ยจากกองทุนนี้ได้ ครม. จึงมีมติให้รัฐสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยให้กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนในอัตรา 0.49% แทนกองทุนพัฒนาสหกรณ์
ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หารือถึงประเด็นที่ให้กยท. รับซื้อยางจากเกษตรกรแล้วให้หน่วยงานรัฐมาซื้อยางจากกยท. ไปใช้ในโครงการต่างๆ นั้น อาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 ตามมาตรา 9 เรื่องการล็อกสเปก จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกันอีกครั้งในข้อกฎหมาย หากไม่ขัดกฎหมายให้ดำเนินการได้ทันที แต่หากขัดกฎหมายจะใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ให้หน่วยงานรัฐซื้อยางจากกยท. ไปใช้งานได้
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์