เผยแพร่ |
---|
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. และนายสมพร ขวัญเนตร รองประธาน คสรท. พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานเดินทางเพื่อร่วมแถลง “จุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน” ก่อนจะเข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำในเวลา 13.00 น.
นายสาวิทย์กล่าวว่า การมาในครั้งนี้เพื่อมาแสดงจุดยืนถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า ต้องเพิ่มเท่ากันทั่วประเทศ โดยยึดหลักว่า 1 คนต้องเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน หมายความว่าเงินค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอสำหรับเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว 3 คน ส่วนที่มีตัวเลขออกไปก่อนหน้านี้ว่า 712 บาทต่อวันนั้น เป็นตัวเลขสำรวจแรงงาน 29 จังหวัด ประมาณ 3,000 คน แต่ทาง คสรท.ไม่ได้เสนอว่าต้องตัวเลขเท่านี้ เพียงแต่ตัวเลขจะเป็นเท่าไรต้องมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งหากจะพูดถึงต่อคนแล้ว เคยทำการสำรวจไว้ว่าแรงงานต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 360 บาท เนื่องจากการสำรวจหนี้แต่ละคน ณ ปัจจุบัน พบว่ามีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 225.87 บาท
“ขอยืนยันว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ (ILO) ซึ่งตรงนี้จะเป็นการพิสูจน์คำสัญญาของรัฐบาลที่เคยระบุไว้ว่า การบริหารประเทศจะต้องยึดหลักการทางสากล อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติประกาศวาระแห่งชาติ เรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะพาประเทศให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่จะเป็นไปได้อย่างไรหากค่าแรงขั้นต่ำยังไม่เพิ่ม ยังมีความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น การเพิ่มค่าแรงต้องเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ใช่เพิ่มเป็นกลุ่ม ส่วนตัวเลขก็ต้องเพียงพอต่อการยังชีพทั้งครอบครัว
ประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า ประเด็นการเพิ่มค่าแรงนั้น ต้องมีการตรึงราคาสินค้าควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาเมื่อขึ้นค่าแรง รัฐบาลมักอ้างว่าสินค้าจะแพงขึ้น ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง ค่าจ้างแรงงานต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า รองเท้าราคา 100 เหรียญ จริงๆ มีค่าแรงเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งไม่สมควร นอกจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี เพราะหากไม่กำหนด ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถวางแผนชีวิตล่วงหน้าได้เลย ไม่ใช่ต้องรอกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งไม่มีความแน่นอน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจปรับที่ 2-15 บาท และไม่เท่ากันทั่วประเทศ นายสาวิทย์กล่าวว่า ยังยืนยันว่า ต้องเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนเท่าไรต้องมาหารือทุกภาคส่วน
เมื่อถามว่า กรณีหอการค้าแห่งประเทศไทยเสนอว่าหากจะปรับต้องเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อ 3-5 เปอร์เซ็นต์ นายสาวิทย์กล่าวว่า ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น หากผลสำรวจพบว่า 712 บาทเลี้ยง 3 คนได้ แต่หากรัฐบาลมีสวัสดิการที่ดีพอ ทั้งรักษาพยาบาล การศึกษา ก็อาจลดทอนลงไป ซึ่งตนยังบอกตรงนี้ไม่ได้ว่าต้องเป็นตัวเลขเท่าจึงจะเพียงพอ
น.ส.ธนพรกล่าวว่า สำหรับการสำรวจแรงงานเกือบ 3,000 คน พบว่าทุกคนล้วนมีหนี้สินมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนมีหนี้เป็นแสน แต่เมื่อมาเฉลี่ยแล้วจะพบว่า แต่ละคนมีหนี้อยู่ที่วันละ 225.87 บาท โดยพบว่าเป็นหนี้กู้สหกรณ์ กู้นอกระบบ และหนี้ธนาคารเป็นหลัก ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอหลังจากหักหนี้เหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอยากให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อทางอนุกรรมการฯเสนอเรื่องเข้ามาคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลางก็ไม่ได้พิจารณาตามอยู่ดี ขณะเดียวกันต้องรื้อคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลาง ณ ปัจจุบันเสีย เพราะไม่ได้มาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง แม้จะพูดว่ามีองค์ประกอบเป็นไตรภาคี แต่ส่วนสำคัญกลับไม่มี อาทิ หอการค้า ภาคีลูกจ้าง ทั้งแรงงานนอกระบบ และในระบบ รวมทั้งนักวิชาการอิสระ จึงขอให้รื้อและตั้งเป็นคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติที่ครบองค์ประกอบจริงๆ
ที่มา : มติชนออนไลน์