กรมชลฯวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 60/61 ย้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ส่งน้ำให้เพาะปลูกได้เต็มพื้นที่

กรมชลประทาน วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2560/2561 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ย้ำจะส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ที่ใช้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ให้สามารถเพาะปลูกได้เต็มพื้นที่

นายทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีประมาณ 42,313 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 25,067 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 15,952 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,167 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,948 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีกประมาณ16,797 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้สนับสนุนการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝนปี 2561

ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2560/61 ทั้งประเทศ จำนวน 13.74 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 8.35 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.70 ล้านไร่ และพืชอื่น ๆ 4.69 ล้านไร่

สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 โดยการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) รวมกันเป็นจำนวน 14,187 ล้าน ลบ.ม. ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วง ฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 60) จำนวน 7,700 ล้าน ลบ.ม. ดังนี้ อุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. ,รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2561 ซึ่งในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร นั้น ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้ทั้งสิ้นประมาณ 6.26 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 5.17 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.06 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 1.03 ล้านไร่

ปัจจุบัน (20 ธ.ค. 60) ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 6,171 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 25 ของแผนจัดสรรน้ำฯทั้งประเทศ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,538 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 20 ของแผนจัดสรรน้ำฯ

สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ที่ใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา นั้น กรมชลประทาน จะใช้ระบบชลประทาน ส่งน้ำเข้าไปให้ทุกทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกอย่างเต็มพื้นที่ และขอย้ำว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านการใช้น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์