อ.ส.ค.ติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีดเพิ่ม 2 โรงงาน พร้อมปรับโฉมใหม่บรรจุภัณฑ์

อ.ส.ค.เร่งติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีดเพิ่ม 2 โรงงาน ที่ขอนแก่นและปราณบุรี กำลังผลิต 24,000 กล่อง/ชั่วโมง เน้นเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมใช้กล่องนมต้นทุนต่ำ ปรับโฉมรูปลักษณ์กล่องใหม่ เป็นแบบ “สลิม ลีฟ” สร้างทางเลือกผู้บริโภค เพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อแข่งขันตลาด

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้ร่วมเดินทางกับคณะผู้บริหาร อ.ส.ค.ไปศึกษาดูงานความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเครื่องจักรผลิตผลิตภัณฑ์นมและการบรรจุด้วยระบบปลอดเชื้อของบริษัท Tetra Pak Modena ประเทศอิตาลี รวมทั้งดูงานโรงงานผลิตกล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์นม ทำให้ อ.ส.ค.มีแนวคิดนำเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เข้ามาใช้ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค โดยขณะนี้ อ.ส.ค.ได้เตรียมแผนปรับเพิ่มศักยภาพการผลิตโดยจะติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีด (High Speed) เพิ่มเติมจำนวน 2 เครื่อง ที่โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และโรงงานนม อ.ส.ค.ภาคใต้ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกำลังการผลิต 24,000 กล่อง/ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าเครื่องบรรจุเดิม ที่เป็นแบบโลว์สปีด (Low peed) กำลังผลิต 7,000-9,000 กล่อง/ชั่วโมงเท่านั้น
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ

ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะใช้กล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คแบบใหม่ ที่มีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กล่องนม ยูเอชที ที่ได้มาตรฐาน FSC ซึ่งเป็น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นไม้ที่ได้รับการรับรองว่าผลิตมาจากการปลูกป่าทดแทน ไม่ได้ตัดต้นไม้จากป่าธรรมชาติ โดยมีการบริหารจัดการ การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ทดแทนอย่างเป็นระบบ มีการดูแลสภาพแวดล้อมทั้งกระบวนการปลูกและผลิต พร้อมปรับปรุงและพัฒนา รูปทรงกล่องนมไทย-เดนมาร์คให้มีความแปลกใหม่ ดูทันสมัย หยิบใช้งานง่าย ช่วยกระตุ้นความรู้สึกของผู้บริโภค ให้อยากใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้นด้วยกล่องนมรูปทรงสลิมลีฟ (Tetra Brik Aseptic Slim Leaf) ขนาดบรรจุ 200 มิลลิลิตร ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ถึง 6% ต่อกล่อง ช่วยตอบโจทย์ความต้องการและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วย

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า การขยายกำลังผลิตโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และศูนย์รวบรวมนมดิบ จำนวน 56 แห่ง ซึ่งได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายน้ำนมโคกับ อ.ส.ค.คาดว่าปริมาณน้ำนมดิบจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปีละประมาณ 10% นอกจากนั้น ยังช่วยลดอัตราการสูญเสียในการผลิต ช่วยประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คแข่งขันได้ในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

“ปัจจุบัน อ.ส.ค.อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องบรรจุนมแบบไฮสปีดที่โรงงานนม อ.ส.ค.ขอนแก่น นำร่องก่อนหนึ่งเครื่องคาดว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตนมเต็มรูปแบบได้ในต้นปี 2561 นี้ และมีกล่องนมไทย-เดนมาร์ครูปทรงสลิมลีฟออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาดแถบภาคอีสาน จากนั้น อ.ส.ค.เตรียมแผนติดตั้งเครื่องไฮสปีดใหม่เพิ่มอีกหนึ่งเครื่องที่โรงงานนมปราณบุรี เป็นโรงงานที่ 2 ซึ่งคาดว่า สามารถรองรับน้ำนมดิบได้เพิ่มขึ้นถึงวันละ 120-160 ตัน เป็นการเตรียมพร้อมรองรับปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดช่องทางหนึ่ง” ผอ.อ.ส.ค.กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์