พบกับอาชีพสุดท้าทาย เลี้ยง “ต่อหัวเสือ” ทำกันทั้งหมู่บ้านหนองบัว จ.นครพนม เสี่ยงแต่คุ้ม!

วันที่ 29 กันยายน บ้านหนองบัว ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม นับเป็นอีกหมู่บ้านสำคัญของ จ.นครพนม ที่มีอาชีพสุดแปลกน่าสนใจ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันแบบน่ากลัว ว่าอาชีพเสี่ยงตาย เนื่องจากชาวบ้านที่นี่ จะมีการสืบทอดอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน มาจากบรรพบุรุษ ทำให้มีความชำนาญ ในการเรียนรู้ที่จะทำอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือขาย ทำให้ในช่วงใกล้เทศกาลออกพรรษาทุกปี  จะมี บรรดา พ่อค้า แม่ค้า รวมถึง นักเปิบพิสดาร เมนูต่อหัวเสือ มาสั่งซื้อตัวต่อไปปรุงเป็นเมนูเด็ด สร้างเงินหมุนเวียนสะพัด ปีละหลายแสนบาท  จนทำให้ชาวบ้านหนองบัว ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม กลายเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสี่ยง ในเรื่องของการท่องเที่ยว ศึกษาวิถีชีวิต อาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ โดยมีการจัดงานเทศกาลกินต่อหัวเสือ ขึ้น ในช่วงเดือน ตุลาคม ของทุกปี  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วิถีชีวิต ภูมิปัญญาชาวบ้าน

สำหรับฤดูกาลเลี้ยงต่อของชาวบ้าน จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงหน้าฝน ประมาณเดือน พฤษภาคม  หรือตรงกับช่วงฤดูกาลทำนา ชาวบ้าน จะใช้เวลาว่างไปล่าหารังต่อหัวเสือ ด้วยการนำวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน นำเหยื่ออาหารต่อ จำพวกเนื้อสัตว์ ตั๊กแตน ไปล่อเอาแม่ต่อที่ออกหาอาหารตามทุ่งนา  พร้อมทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ด้วยเชือกฟางให้สังเกตง่าย นำไปติดกับเหยื่ออาหารต่อ  พอแม่ต่อนำเหยื่อบินกลับไปรังตามธรรมชาติ ชาวบ้านจะติดตามไปจนถึงรัง ในป่า ก่อนใช้ความชำนาญย้ายรังต่อมาเก็บรักษาไว้ตาม ไร่นา หรือสวนท้ายหมู่บ้าน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ และดูแลตามธรรมชาติไม่ต้องให้อาหาร  ส่วนใหญ่จะใช้เวลากลางคืนทำการเคลื่อนย้าย เพราะจะได้แม่ต่อมาทั้งหมด เนื่องจากกลางวันจะออกไปหาอาหาร  จนกระทั่งเวลาประมาณ 3 -4 เดือน  หรือช่วงใกล้เทศกาลออกพรรษา จะเป็นฤดูกาลเก็บผลผลิตเอาลูกต่อหัวเสือ เพื่อนำมาจำหน่าย  ซึ่งถือเป็นเมนูอีสานที่ได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการของตลาด จำนวนมาก  มีราคาซื้อขายประมาณ รังละ 1,000 – 2,000 บาท แล้วแต่ขนาด  หรือบางรายจะนำเอาตัวต่อ ลูกต่อที่เป็นดักแด้ มาชั่งกิโลขาย ประมาณกิโลกรัมละ 1,000 – 1,500 บาท  ยิ่งหากนำไปปรุงเป็นเมนูอีสาน สามารถทำได้สารพัดเมนูเด็ด อาทิ แกงใส่หน่อไม้ดอง  นึ่ง  ผัด  คั่ว  ห่อหมก หรือยำ ตามความชอบ  เมื่อไปถึงร้านอาหาร ยิ่งมีราคาแพง จานละ 300 -500 บาท เพราะเป็นเมนูหายาก  ถือเป็น อาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบ เป็นกำ ให้กับชาวบ้าน ทุกปี บางรายขยันออกไปล่าสามารถทำเงินได้ปีละเป็นแสน

201609291013173-20111216140823-768x511

ด้านนายสง่า  แสงแก้ว  อายุ 38 ปี นายก อบต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม  ผู้มีความชำนาญในการเลี้ยงต่อมากว่า 20 ปี  จนชาวบ้านเรียกว่า เซียนต่อ  กล่าวว่า ตนเรียนรู้ศึกษาอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ มาตั้งแต่เด็ก จาก ปู่ย่าตา ยาย เนื่องจากพื้นที่ ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของป่าไม้ ยอมรับว่า ต่อหัวเสือเป็นแมลงที่อันตราย มีพิษที่รุนแรงถึงชีวิต  แต่สำหรับชาวบ้านหนองบัว ถือว่าเป็นวิธีชีวิตที่อยู่ด้วยกันมานาน แต่ไม่ประมาท เพราะหากเราเข้าใจในวิถีชีวิต ธรรมชาติของต่อจะไม่อันตราย

นอกจากนี้ยังเคยคิดหาวิธีจะนำต่อมาเลี้ยง แต่ไม่สำเร็จ เพราะต่อหัวเสือ จะต้องเติบโต ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ  ไม่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี  จึงได้เริ่มต้นเปลี่ยนแนวคิด หาวิธีเป็นการคิดค้นการเก็บผลผลิต จากดั้งเดิมที่ใช้การลมควัน เพราะปลอดภัย มาเป็นการล้วงรังต่อแบบสดๆ  เพราะจะทำให้แม่ต่อไม่ตาย เป็นการรักษาปริมาณตัวต่อหัวเสือ  อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มผลผลิต ที่ผ่านมาจากการศึกษาพบว่าปริมาณตัวต่อ จะเพิ่มหรือลด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการล่า แต่จะมาจากปัจจัยเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นหลัก ที่น่าห่วงคือ การใช้สารพิษ  ฉีดพ่น ในการเกษตร รวมถึงภัยแล้ง จะทำให้ต่อหัวเสือหายากมากขึ้น ซึ่งต่อหัวเสือนับวันยิ่งราคาแพง ไม่เพียงขายลูกตัวอ่อนต่อหัวเสือเท่านั้น  รังต่อหัวเสือ ยังสามารถขายได้ เพราะเป็นความเชื่อ นำไปตกแต่งให้เกิดความสวยงาม นิยมมีไว้หน้าบ้าน จะต่อโชคต่อลาภ หรือต่อยอดความเจริญรุ่งเรืองมีราคาซื่อขายถึงหลัก 10,000 บาท

201609291013175-20111216140823-768x511

ทาง อบต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม  จึงได้เห็นความสำคัญ ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่เพียงเลี้ยงขายสร้างอาชีพ ยังได้ส่งเสริมอนุรักษ์ จัดงานเทศกาลกินต่อ ขึ้นทุกปี  ทำมาได้ประมาณ 4 ปี  เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้าน รวมถึงประชาชน ได้ช่วยกันอนุรักษ์ ดูแลธรรมชาติ ให้มีความอุดมสมบูรณ์และเข้าใจ เห็นความสำคัญของอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ  ให้สามารถเลี้ยงได้อย่างปลอดภัย  มีรายได้เสริมอีกทาง ไปจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว กลายเป็นการประเพณีสำคัญที่ สร้างความสนใจให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมศึกษา คึกคักทุกปี ซึ่งปัจจุบันยังได้ส่งเสริมเป็นหมู่บ้านศูนย์เรียนรู้ศึกษา เยี่ยมชมอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมาศึกษาเยี่ยมชมได้ที่ อบต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม