ขรก.ติดบ่วงจำนำข้าว1.78แสนล. “อคส.-อ.ต.ก.-เอกชน”เจอไล่เบี้ยค่าเสียหายระนาว

เหมายกเข่งตั้งแต่อดีตคณะรัฐมนตรีถึงข้าราชการพ่วงเอกชน ติดบ่วงจ่ายชดเชยค่าเสียหายจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” 1.78 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่มี นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน สรุปค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว รวม 1.78 แสนล้านบาท ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดตามหลักเกณฑ์การคำนวณ เพื่อกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แล้วพบว่า ในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติขั้นสูง จะต้องรับผิดชอบในสัดส่วน 20% หรือ 3.56 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 60% หรือ 1.06 แสนล้านบาท เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่พิจารณาโครงการรับจำนำข้าว และอีก 20% หรือ 3.56 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผ่านงานชั้นต้นและชั้นกลาง ซึ่งหมายความรวมถึง อดีต รมว.พาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยนั้นทั้งหมด 35 คน ซึ่งเป็นผู้อนุมัติในลำดับรองลงไป

ทั้งนี้จากเงื่อนไขดังกล่าว 60% ที่ระบุจะกลายเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 153/2554 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ, รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คลัง รองประธานกรรมการ, รมช.พาณิชย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน เป็นกรรมการ, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมการข้าว เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

อย่างไรก็ตาม ความรับผิดทางละเมิดอาจจะไม่จบแค่คณะกรรมการ กขช. รัฐมนตรี หรือ ครม. แต่จะมีการสืบสวนไปถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการจำนำข้าว ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งจะไล่มาตั้งแต่ ผอ. รอง ผอ. ไล่ลงมาจนถึงหัวหน้าคลัง และเจ้าหน้าที่ และยังรวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์ในทางที่ไม่สุจริตจากโครงการรับจำนำ เช่น โรงสี บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) โกดังกลาง และอาจจะต้องลงลึกไปถึงในระดับจังหวัด กรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลข้าวในโครงการรับจำนำด้วย

“หากจะมีการเรียกค่าเสียหายกับทางข้าราชการซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งถือว่าไม่แฟร์และกระทบต่อขวัญกำลังใจ เพราะข้าราชการไม่มีอำนาจในการยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ต้องเดินหน้าตามคำสั่ง แต่ผู้ที่มีอำนาจยับยั้งคือ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ปฏิบัตหน้าที่ในรัฐบาลชุดนั้น เพราะการชี้มูลทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นการชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณประเทศชาติ” แหล่งข่าวกล่าว