เผยแพร่ |
---|
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 สำรวจการผลิตหอมแดงในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ คาดปี 2559/60 พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 24,000 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายได้ราคาดี เผย เกษตรกรเตรียมพันธุ์หอมแดงไว้ใช้เองเป็นจำนวนมาก และเกษตรกรกำลังเตรียมแปลงปลูกเพื่อรอฝนหยุด
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสำรวจการผลิตหอมแดงในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ พบว่า ปี 2558/2559 หอมแดงที่ปลูกใน จ.ศรีสะเกษ มีเนื้อที่ปลูกโดยประมาณ 19,200 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557/2558 ที่มีเนื้อที่ปลูกโดยประมาณ 18,956 ไร่ หรือร้อยละ 1.29
สำหรับปี 2559/60 คาดว่าพื้นที่เพาะปลูก จะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 25 จากปี 2558/2559 หรือรวมประมาณ 24,000 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรเตรียมพันธุ์หอมแดงไว้ใช้เองเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ ปีเพาะปลูกที่ผ่านมา ราคาที่เกษตรกรขายได้สูงมาก โดยหอมปึ่ง (หอมแดงตากแห้งยังไม่ทำการมัดจุก) ณ ไร่นา กิโลกรัมละ 25 – 30 บาท โดยขณะนี้ เกษตรกรกำลังเตรียมแปลงปลูก ปลูกพืชสดเพื่อบำรุงดิน เช่น ปอเทือง และไถย่อยดิน เพื่อรอฝนหยุดตกจึงเริ่มลงมือปลูก ซึ่งคาดว่าช่วงกลาง เดือนตุลาคม 2559 ปริมาณน้ำฝนน่าจะลดลง และเกษตรกรจะทยอยปลูกเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ หอมแดงเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าหัวสะสมอาหาร เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในระยะเวลาอันสั้น แต่ราคาส่งขายมีความแตกต่างกันไปเมื่อเทียบกับพืชผักชนิดอื่น โดยอาชีพการปลูกหอมแดง เป็นอาชีพหนึ่งในภาคการเกษตรที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรชาวจังหวัดศรีสะเกษ เพราะมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกหอมแดงและมากเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้เกษตรกรมากตัวหนึ่ง เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดการปลูกหอมแดงในพื้นที่ได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จ.อุบลราชธานี โทร. 045 344 653 หรือ [email protected]