ไทย ยอมรับคุณภาพระดับโลก นำเข้า เนื้อลูกวัว เนื้อวัว และไก่พันธุ์ จากเนเธอร์แลนด์

เมื่อไม่นานมานี้ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ กรุงเทพฯ จัดแถลงข่าวเรื่อง การที่กรมปศุสัตว์ของไทยได้อนุญาตอย่างเป็นทางการ ให้ส่งออกเนื้อลูกวัว (Veal) และเนื้อวัว (Beef) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ มายังประเทศไทย และการขยายระยะเวลาการส่งออกลูกไก่ (Day-Old-Chick) และไข่ฟัก (Hatching Egg) จากเนเธอร์แลนด์ มายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ผลจากความพยายามในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าและนวัตกรรมด้านปศุสัตว์ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ให้เข้มแข็งในระดับนานาชาติ

ฯพณฯ มร. พอล เม้งเฟล (H.E. Mr. Paul Menkveld) อุปทูตเนเธอร์แลนด์ (Charge’ d’affaires a.i.) กล่าวในการแถลงข่าวว่า เนเธอร์แลนด์ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร อันดับ 2 ของโลก ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการเกษตรและอาหารในระดับโลก มีความมุ่งมั่นพัฒนาและกระชับความร่วมมือกับประเทศไทยด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ทั้งสองประเทศต่างก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลกเช่นเดียวกัน

โดย มร. อารีย์ เวลเฮาเซ่น (Mr. Arie Veldhuizen) ทูตเกษตรของเนเธอร์แลนด์ กล่าวเสริมว่า หลังจากการระบาดของโรควัวบ้าในยุโรปเมื่อหลายปีก่อน การส่งออกและนำเข้าสินค้าเนื้อวัวระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ได้หยุดชะงักไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและเนเธอร์แลนด์ได้แสวงหาความร่วมมือ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ คณะของกรมปศุสัตว์ของไทยได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในการเดินทางไปตรวจสอบระบบห่วงโซ่การผลิตและควบคุมเนื้อวัว ตลอดจนผลิตภัณฑ์เนื้อวัวที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการด้านความปลอดภัยอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเนื้อวัวและเนื้อลูกวัวที่ผลิตและส่งออกโดยเนเธอร์แลนด์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในไทยอย่างแท้จริง

ใน ปี 2559 กรมปศุสัตว์ จึงได้อนุมัติอย่างเป็นทางการให้เนเธอร์แลนด์ส่งออกเนื้อลูกวัว และเนื้อวัวมายังประเทศไทย

ในปีเดียวกัน คณะของกรมปศุสัตว์ได้เดินทางไปตรวจสอบระบบห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมไก่ทั้งระบบของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ในปี 2560 กรมปศุสัตว์ของไทยได้อนุมัติอย่างเป็นทางการสำหรับการส่งออกลูกไก่และไข่ฟัก จากเนเธอร์แลนด์มายังประเทศไทย

โดยขั้นตอนสุดท้ายคือ กระบวนการด้านเอกสารสุขภาพสัตว์ (Veterinary or Health Certificate) Click here to enter text. เพื่อการส่งออกเนื้อลูกวัว เนื้อวัว ลูกไก่ และไข่ฟัก จากเนเธอร์แลนด์มาไทย ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของทั้งสองประเทศ ผู้บริโภคของไทยจึงสามารถมั่นใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าปศุสัตว์ที่ส่งออกจากเนเธอร์แลนด์

ศาสตราจารย์ ดร. อัล ไดเฮาเซ่น (Prof. Dr. Aalt Dijkhuizen) ประธานคณะกรรมการเกษตรและอาหาร เนเธอร์แลนด์ ให้ข้อมูลว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 45,000 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 17 ล้านคน แต่เป็นผู้ส่งออกอาหาร อันดับ 2 ของโลก สาขาเกษตรและอาหารที่สำคัญของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ สินค้าพืชสวนในระบบโรงเรือน โคนม เนื้อลูกวัว หมู และไก่ ร้อยละ 70 ของสินค้าเกษตรและอาหารที่เนเธอร์แลนด์ผลิตได้เพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมอาหารก่อให้เกิดการจ้างงาน ประมาณร้อยละ 10 ของการจ้างงานทั้งประเทศ จำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลต่อความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการอาหารจากแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง (นมโค เนื้อสัตว์ และผัก) ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของเนเธอร์แลนด์

“การเพิ่มผลผลิตด้านเกษตรและอาหารต้องดำเนินบนหลักการ “ผลิตให้ได้มากกว่า ด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่า”  แนวโน้มการผลิตอาหารในอนาคต คือผลิตให้ได้มากขึ้นบนวิถีที่ยั่งยืน โดยการใช้ที่ดินน้อยลง” ศาสตราจารย์ ดร. อัล ไดเฮาเซ่น กล่าว

ประธานคณะกรรมการเกษตรและอาหาร เนเธอร์แลนด์ บอกด้วยว่า จากความเข้าใจเดิมๆ ที่ว่าการผลิตปศุสัตว์นั้นก่อให้เกิดมลภาวะจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงกว่าการผลิตพืชอาหาร แท้จริงแล้วแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้านวัตกรรมการเลี้ยงไก่ในปัจจุบัน มีความยั่งยืนสูงมาก

ผลการวิจัยเปรียบเทียบปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อการผลิต 1 กิโลกรัม เนื้อหมู เนื้อไก่ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.5 ; 2.6 ; 2.3 ; 2.0 กิโลกรัม ตามลำดับ นั่นหมายถึงว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ปัจจุบันมีความยั่งยืนและก้าวหน้าด้านนวัตกรรมอย่างเด่นชัด

ปัจจุบัน มีปริมาณไก่ทั่วโลกประมาณ 56 ล้านตัว ภายในอีกสิบปีข้างหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2050 ถ้าเรายังผลิตไก่ด้วยนวัตกรรมของปัจจุบัน ความต้องการไก่ คือ 131 พันล้านตัว ในทางกลับกันถ้าหากการเลี้ยงไก่ได้รับการพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ความต้องการไก่จะเหลือ 100 พันล้านตัว หมายความว่า

– สามารถลดการใช้อาหารสัตว์ได้ 147 ล้านตัน

– ลดการใช้ที่ดิน 40 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 2 ใน 3 ของขนาดพื้นที่ประเทศไทย)

– ลดการใช้น้ำ 290 พันล้านลิตร

มร. พอล เบลท์แมน (Mr. Paul Beltman) ผู้แทนจากสมาคมเนื้อแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ (Dutch Meat Association) กล่าวถึงคุณภาพเนื้อลูกวัวจากเนเธอร์แลนด์ว่า เนเธอร์แลนด์เป็นผู้ผลิตเนื้อลูกวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก ร้อยละ 70 ของเนื้อลูกวัวที่ผลิตได้จะส่งออกไปทั่วโลก โดยมีตลาดสหภาพยุโรปเป็นตลาดหลัก แต่ละขั้นตอนของการเลี้ยงและการผลิตเนื้อลูกวัวแต่ละตัวในทุกๆ ฟาร์ม ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยหน่วยงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยด้านอาหารของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ มีการตรวจสอบเรื่องคุณภาพและมาตรฐานโดยหน่วยงานอิสระระดับนานาชาติอย่างครบวงจร สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอนจนถึงวัวแต่ละตัว ณ ฟาร์มเลี้ยง รวมทั้งมีมาตรการการลงโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายข้อบังคับเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย ครอบคลุมตั้งแต่ฟาร์ม โรงงานอาหารสัตว์ จนถึงโรงเชือด

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทแวนดรี (VanDrie Group) คือผู้ผลิตและส่งออกเนื้อลูกวัวรายใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ กลุ่มบริษัทแวนดรี มีพนักงานทั้งสิ้น 2,250 คน โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงในเครือข่าย 1,100 ราย ความต้องการลูกวัวเพื่อป้อนให้แก่โรงเชือดของบริษัทในแต่ละปี มีจำนวน 1.5 ล้านตัว จัดเป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อลูกวัวรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านปศุสัตว์ที่เกี่ยวโดยเฉพาะการผลิตเนื้อลูกวัว และอุตสาหกรรมโคนม ได้แก่

– ผลิตอาหารหยาบ สำหรับเลี้ยงสัตว์ 184,000 ตัน ต่อปี

– ผลิตนมผง สำหรับเลี้ยงลูกโค 450,000 ตัน ต่อปี

– ปริมาณการค้าสินค้าวัตถุดิบจากนมโค 175,000 ตัน ต่อปี

– ส่งออกไป 60 ประเทศ ทั่วโลก จากฐานการผลิต ใน 4 ประเทศ (เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส และเบลเยียม)

ในส่วนของ บริษัท เอโกร (EKRO) เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของกลุ่มแวนดรี เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 มีกำลังการผลิต 425,000 ตัว (ลูกวัว) ต่อปี หรือ 140 ตัน เนื้อถอดกระดูกต่อวัน มีพนักงาน 450 คน ลูกค้าในแถบเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศไทย

เนื้อลูกวัวมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับอาหารที่ใช้เลี้ยง เช่น เลี้ยงด้วยนมโคเป็นหลัก และเสริมอาหารพิเศษเพื่อช่วยเรื่องการย่อย เนื้อลูกวัวไม่จะมีสีชมพูอ่อนๆ กลิ่นหอมแบบครีมนม เนื้อชุ่มและนุ่มมาก แต่ราคาสูง แต่ถ้าเลี้ยงด้วยนมโคและอาหารหยาบแบบครึ่งต่อครึ่ง จะได้เนื้อที่เป็นสีกุหลาบ นุ่ม แต่ราคาย่อมเยา เป็นต้น โดยสรุปเนื้อลูกวัวจากเนเธอร์แลนด์จัดเป็นสินค้าพรีเมี่ยม

กล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ในการส่งเสริมการค้าและนวัตกรรมด้านปศุสัตว์ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงมาตรการด้านความปลอดภัยอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเนื้อวัวในไทยอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ คุณศราวุธ ฉันทจิตปรีชา เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเกษตร สถานทูตเนเธอร์แลนด์ ผู้ช่วยเหลือในการแปลภาษาให้เข้าใจอย่างถูกต้อง