สั่งปิดแพปลา-ล้ง-ห้องเย็น เข้มประมงเถื่อนลุ้นหลุดIUU

กระทรวงแรงงานตรวจเข้ม ค้ามนุษย์-แรงงานเถื่อนประมง IUU ดันเข้าแผนปฏิรูปแรงงานระยะที่ 1 ร่วมบูรณาการ 6 หน่วยงานจัดชุดตรวจห้องเย็น-โรงงานแปรรูปอาหารทะเล พบการกระทำผิด 127 แห่งส่วนใหญ่เป็นห้องเย็นขนาดเล็ก ล้ง และแพปลา มีทั้งสั่งดำเนินคดี สั่งปิด ตาม พ.ร.บ.การประมง-พ.ร.บ.โรงงาน

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IIIegal Unreported and Unregulated หรือ IUU Fishing หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ “ใบเหลือง” ว่า ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา IUU ไปมาก

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และแรงงานทาส ได้ร่วมบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ต่อเนื่อง มีการส่งทีมเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบติดตามการออกทำประมงและในโรงงานแปรรูป

โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานผิดกฎหมายถือเป็น 1 ในวาระปฏิรูปหลักเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปแรงงานระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559-ธันวาคม 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานและจัดระบบแรงงานต่างด้าวในหลายมาตรการ อาทิ

การจดทะเบียน OSS ประมง/โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำกว่า 1.2 ล้านคน, การปรับปรุงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านแรงงานกับประเทศเมียนมา-สปป.ลาว, การป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์, การตรวจคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 3 ล้านคน, การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ภายใต้ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559, การจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ศปคร.), การจัดตั้งเขตปลอดการหลอกลวงคนหางานในทุกจังหวัด รวมทั้งการยื่นสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเลฯ กับอนุสัญญาฉบับที่ 187 ด้านการส่งเสริมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) ด้วย

ม.ล.ปุณฑริกกล่าวถึงการดำเนินการในส่วนของปัญหาการค้ามนุษย์กับการทำประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยปลายเดือนกันยายน 2559 นี้ ฝ่ายไทยจะต้องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการให้ EU ทราบอีกครั้ง

แหล่งข่าวในศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เปิดเผยว่า จากการบูรณาการหน่วยงานจัดชุดออกตรวจโรงงานแปรรูปอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ตามข้อแนะนำของสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558-มิถุนายน 2559 ออกตรวจสอบโรงงาน 281 แห่ง พบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. 6 ฉบับ (พ.ร.บ.การประมง-พ.ร.บ.คนเข้าเมือง-พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว-พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน-พ.ร.บ.ประกันสังคม-พ.ร.บ.โรงงาน)พบการกระทำผิดรวม 127 แห่ง ซึ่งมีทั้งเปรียบเทียบปรับ-สั่งหยุดการดำเนินกิจการ และดำเนินคดีความ 31 คดี

ในจำนวนโรงงานทั้ง 127 แห่งที่พบการกระทำผิด แบ่งเป็น กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การประมง สั่งให้หยุดกิจการ 10 วัน ประกอบไปด้วย บริษัททิพย์วันชัยซีฟู้ด (ชลบุรี), บริษัทเทคนิคฟู้ด มารีนโปรดักส์ (ระยอง), หจก.วิชัยการประมง (ระนอง), บริษัท วี.ไอ.อินเตอร์เนชั่นแนล (ระนอง), บริษัทฉางหลอง โอเชี่ยนนิค (ภูเก็ต), บริษัทแฮนดี้ อินเตอร์เนชั่นนอล (ระนอง), บริษัทซี เอ็ม อินเตอร์ฟู้ดส์ (สมุทรสาคร)

บริษัทที่เข้าข่ายประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน ได้แก่ บริษัทลูกยอด ซีฟู้ดส์ (ระยอง), บริษัทอ่าวไทย เจลลี่ฟิช (ชลบุรี), บริษัทหมื่นสวัสดิ (สมุทรสงคราม), บริษัทโรงน้ำปลาตั้งไฮ้ลิ้ม (ชุมพร), บริษัทเซาท์อีสเอเซียซีฟู้ด (นครศรีธรรมราช), บริษัทเจ๊เปี๊ยก หมึกกรอบ (สมุทรสงคราม), บริษัทนันทกมล หมึกกรอบ (สมุทรสงคราม), นายชะออม ศรเดช (สมุทรสงคราม), คณะบุคคลแม่กลองอาหารทะเล (สมุทรสงคราม, นายเติมเยาวราชอาหารทะเลแปรรูป (สมุทรสงคราม) และบริษัทหยวนอี้ (พังงา)

บริษัทที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การประมง สั่งให้หยุด 10 วัน และรอคำสั่งให้หยุด ได้แก่ แพปูวาสนา (นครศรีธรรมราช), แพแมนระนอง (ระนอง), หจก. ส.เฮียทัศน์ (สมุทรสาคร), ล้งหมวยแข (สมุทรสาคร), ล้งวิไลพร (ตราด), บริษัทสุภาภรณ์แคนนิ่ง (สมุทรสงคราม) และแพสมชาติ (ระนอง)