“เทคโนโลยี-นวัตกรรม” โจทย์ใหญ่ ดัน “ท่องเที่ยว-บริการ” ไทย สู่ยุค 4.0

ปัจจุบันภาพของเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของไทย เพื่อก้าวสู่ยุค 4.0 ชัดขึ้นเรื่อย ๆ

โดยกูรูและผู้ประกอบการท่องเที่ยว-บริการยุคใหม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันกระแสโลกไว้หลากหลายแนวทาง

ใช้บิ๊กดาต้าให้เป็นประโยชน์

“แรนดี้ เดอร์บัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) บอกว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการต้องคำนึงถึง คือการนำ “บิ๊กดาต้า”(big data) ซึ่งนับวันจะมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ มาใช้ทำการตลาด

ยกตัวอย่างเช่น กรณีในต่างประเทศ เกาหลีใต้มีการนำข้อมูลจากการจับจ่ายผ่านสมาร์ทโฟนมาวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้งานว่าผู้คนมีการใช้สอยอะไรบ้าง แต่ละพื้นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาติไหนบ้าง

“มองว่าภายใน 5-10 ปีนับจากนี้ ทุกคนจะสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนได้มากขึ้นชนิดที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลย รีวิวต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้หากประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบการชำระเงินได้สะดวกสบายและรวดเร็วก็จะยิ่งเอื้อต่อการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เขาใช้ระบบ e-Payment กันหมดแล้ว”

เครื่องมือกระจายนักท่องเที่ยว

ขณะที่ “มาริโอ้ ฮาร์ดี้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (PATA) เล่าว่า ปัจจุบันไทยยังมีปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวหลัก

และเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ประเทศเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้วยการบริหารหมุนเวียนนักท่องเที่ยวให้กระจายตัวไปยังเมืองรองและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจที่ยังไม่เป็นที่รู้จักได้มากนัก

ด้าน “นพพล อนุกูลวิทยา” ผู้ร่วมก่อตั้ง เทคมีทัวร์ (TakeMeTour) แพลตฟอร์มนำเสนอบริการนำเที่ยวรองรับความต้องการเฉพาะบุคคล เชื่อมต่อระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับผู้นำเที่ยวชาวไทย บอกว่า ปัจจุบันรายได้การท่องเที่ยวของไทยส่วนใหญ่ยังกระจุกที่กรุงเทพฯ 30-40% ภาคใต้ 20% ภาคเหนือ 10% และอีสาน 2% เท่านั้น

ดังนั้นที่ผ่านมา เทคมีทัวร์จึงต้องการเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกับคนในท้องถิ่น ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯเท่านั้น เพื่อช่วยกระจายรายได้จากภาคท่องเที่ยวให้กระจายไปยังเมืองต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

“ผมมองว่าเราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุซึ่งมีความหลากหลายของช่วงวัย และเห็นการปะทะกันของคนในแต่ละโจทย์สำคัญของการทำธุรกิจในยุค 4.0 ในมุมผม คือเราจะทำอย่างไรให้ไทยแข่งกับต่างประเทศได้อย่างจริงจัง”

“นพพล” บอกด้วยว่า หนึ่งในวิธีที่จะช่วยทำให้ธุรกิจไทยไปยุค 4.0 ได้คือ กฎหมายจะต้องไม่ไปควบคุม หรือ “คุมกำเนิด” ธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ ๆ และส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย แล้วค่อยมาดูกันอีกที ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ควรต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ควบคุม” เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” พร้อมศึกษาการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ ๆ ตามให้ทัน แล้วก้าวนำไปดักข้างหน้าอีกที

นอกจากนี้ ต้องเข้าใจและเข้าถึงวิธีการหาข้อมูลของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ซึ่งมีทางเลือกมากขึ้น สอดรับกับเทรนด์โลกเรื่องความต้องการท่องเที่ยวแบบเฉพาะส่วนบุคคล (personalized trip) ไม่ใช่แค่โปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพียงอย่างเดียว

แนะโฟกัส “นิชมาร์เก็ต”

“เฉลิมพล ปุณโณทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ชื่อ “ดินสอ” ส่งออกไปขายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากกว่า 30 ล้านคน ได้ให้ความเห็นต่อทิศทางธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในยุค 4.0 ว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทยมี “ขงเบ้ง” จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย แพทย์ ฯลฯ แต่ยังขาด “เล่าปี่” ซึ่งก็คือ นักธุรกิจผู้สร้างเวทีให้กับสินค้า

“ปัจจุบันงานวิจัยดี ๆ ของไทย ถูกนักธุรกิจจีนมาช็อปปิ้งไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อ กลายเป็นว่ามีคนเก่งกับของดี ๆ จำนวนมาก แต่คนไทยไม่ทำเอง คนชาติอื่นดึงไปทำก่อน อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญของคนไทยคือ นิสัยคนไทยที่ยังอยู่ในยุค 2.0-3.0 คิดว่าคนอื่นเขานำหน้าเราเสมอ อยากจะทันโลก แต่ไม่อยากจะนำโลก”

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะไปในยุค 4.0 ได้นั้น ต้องเลือกการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (นิชมาร์เก็ต) หรือปักธงใน “พื้นที่เฉพาะ” (specific area) ก่อน แล้วค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ

พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ตอนที่ทำหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุขายในญี่ปุ่น เขามองว่า ต้องผลิตหุ่นยนต์เจาะตลาดความต้องการเฉพาะ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่ไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหานี้มาก่อนเลย หากผลิตที่ญี่ปุ่นจะมีต้นทุนแพงมาก จึงจ้างคนไทยที่เรียนจบมาทางด้านการผลิตหุ่นยนต์แล้วใช้วิธีส่งออก

พร้อมใส่อารมณ์ (emotion) ลงไปในหุ่นยนต์ด้วย เพื่อให้มีความมีชีวิตชีวา ใส่ฟีเจอร์ชวนผู้สูงอายุสวดมนต์ ร้องคาราโอเกะ เกมใครหนอ ให้ทายชื่อลูกหลาน ญาติ คนรอบตัว หรือดาราในยุคเก่า ๆ ช่วยคลายเหงาและป้องกันโรคสมองเสื่อม

ไม่เพียงแค่นี้ ยังใส่ฟีเจอร์สำคัญ ๆ เช่น สามารถวิดีโอคอลหาแพทย์ได้ หากหกล้มหรือไม่กระดุกกระดิกนานก็จะส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ดูแล มีเทคโนโลยีมองเห็นในที่มืด เพื่อหาคนเป็นเจ้านายให้เจอ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือ จุดขายที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นสนใจซื้อหุ่นยนต์ไปเป็นเพื่อนพ่อแม่สูงวัยซึ่งอยู่ตามต่างจังหวัด

นี่คือ หลักการคิดในการพัฒนาส่งเสริมสินค้าด้านการท่องเที่ยวและบริการในยุค 4.0 ยุคที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้น !

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์