“เศรษฐกิจออนไลน์” ความสำเร็จและความท้าทาย

รายงาน “อี-โคโนมี เซาธ์อีสต์เอเชียสปอตไลท์ 2017” ที่กูเกิลร่วมกับเทมาเส็ก กิจการเพื่อการลงทุนของสิงคโปร์จัดทำขึ้นเผยแพร่ออกมาเมื่อตอนปลายปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งนับวันเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งของไทยเรา มีแต่จะโยกย้ายขึ้นไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

ในรายงานชิ้นที่ว่านี้ ซึ่งศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลในตลาดออนไลน์ของ 6 ประเทศในภูมิภาค ประกอบด้วย อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม เปรียบเทียบกับการศึกษาครั้งก่อนหน้านี้คือเมื่อปี 2015 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ไม่เพียงสูงมากเท่านั้น ยังเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอีกด้วยครับ

คำว่า “เศรษฐกิจอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “เศรษฐกิจออนไลน์” ที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซอย่างเดียวเท่านั้น แต่อี-คอมเมิร์ซเป็นเพียง 1 ใน 4 ธุรกิจที่กูเกิลและเทมาเส็กใช้ในการสำรวจครั้งนี้

ส่วนที่เหลืออีก 3 ธุรกิจที่พึ่งพาโลกออนไลน์ที่ใช้ในการสำรวจ คือ การเดินทางท่องเที่ยว (การจองตั๋ว จองโรงแรมออนไลน์), ธุรกิจสื่อ (โฆษณา, เกม) และบริการรถร่วมโดยสาร หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไรด์ เฮลลิง” โดยไม่ได้รวมอีกหลายอย่างที่เป็นธุรกิจออนไลน์เข้าไปด้วย รวมทั้ง ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจเพื่อการศึกษา

ในการสำรวจครั้งที่แล้ว กูเกิลกับเทมาเส็กบอกว่า ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่อินเตอร์เน็ตเติบโตเร็วที่สุดในโลก ถึงปีนี้การขยายตัวก็ยังเร็วมาก คาดว่า ณ สิ้นปี 2017 นั้น ทั่วทั้ง 6 ประเทศที่สำรวจวิจัยจะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจริงมากถึง 330 ล้านคนต่อเดือน มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์

หรือเทียบกับการสำรวจในปี 2015 แล้ว มีผู้ใช้แบบแอ๊กทีฟยูสเซอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 70 ล้านคน  ที่น่าสนใจก็คือ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใน 6 ประเทศนี้เป็นการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนครับ

ประเทศที่มีค่าการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันสูงสุด ไม่ใช่ใคร เป็นประเทศไทยของเรานี่เอง แต่ละวันคนไทยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนเฉลี่ยแล้วนานถึง 4.2 ชั่วโมง เป็นอันดับ 1 ของโลก นำหน้าแม้กระทั่งผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนไทย คือแค่ 2.0 ชั่วโมงเท่านั้นเอง รองจากไทยคืออินโดนีเซีย 3.9 ชั่วโมงต่อวัน

Advertisement

กูเกิล-เทมาเส็กคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจออนไลน์” ของทั้งภูมิภาค (คือทั้ง 6 ประเทศ) ณ สิ้นปี 2017 จะถึงหลัก 50,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมด พอถึงปี 2025 คาดว่ามูลค่าของเศรษฐกิจออนไลน์ดังกล่าวนี้จะทะลุเกิน 200,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าอัตราส่วนต่อจีดีพีรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลในรายงานบอกว่า อี-คอมเมิร์ซของไทยในปี 2015 อยู่ที่เพียง 900 ล้านดอลลาร์ ไม่มีประมาณการในปี 2017 มาให้ แต่ระบุว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีของไทยจะเพิ่มสูงมากถึงปีละ 29 เปอร์เซ็นต์ พอถึงปี 2025 มูลค่ารวมของอี-คอมเมิร์ซไทยจะอยู่ที่ 11,100 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค เป็นรองก็แค่อินโดนีเซียเท่านั้นเอง

Advertisement

แต่โดยภาพรวมแล้ว กลุ่มธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตสูงที่สุดในภูมิภาคไม่ใช่อี-คอมเมิร์ซ นะครับ แต่เป็นธุรกิจ “ไรด์ เฮลลิง” ที่กำลัง “บูม” มีสัดส่วนการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีถึง 43 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี มูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 2,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 เป็นราว 5,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 และคาดว่าจะถึง 20,100 ล้านดอลลาร์ ในปี 2025

ผู้ให้บริการที่แข่งขันขับเคี่ยวกันอยู่ก็คือ “แกร็บ” ที่เป็นกิจการภายในภูมิภาค กับ “อูเบอร์” ที่ครองตลาดโลกอยู่ กับ “โก-เจ็ค” กิจการในท้องถิ่นของอินโดนีเซีย

ภาคธุรกิจไรด์ เฮลลิง ได้รับความสนใจและขยายตัวมากเป็นพิเศษด้วยเหตุผลหลายประการ เริ่มตั้งแต่มีผู้สนใจใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาเริ่มลดลง ซึ่งยิ่งส่งผลให้ดึงดูดการใช้งานมากขึ้น

แต่ที่สำคัญก็คือ ธุรกิจนี้กลายเป็นการสร้างงาน “ทางเลือก” ให้กับคนในท้องถิ่น ทั้งที่เป็นรายได้เสริมและที่เป็นรายได้หลัก เห็นได้จากจำนวน “คนขับ” ที่อยู่ในธุรกิจนี้ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 600,000 คนเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นกว่า 2,500,000 คนในปี 2017 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจนี้ทำให้คนเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม

สะท้อนความจริงว่า จำนวนรถยนต์ต่อจำนวนคนในภูมิภาคนี้ยังต่ำอยู่มาก นั่นคือมีรถยนต์เพียง 70 คันต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ในจีนตัวเลขจะขยับขึ้นเป็น 103 คัน ส่วนในสหรัฐสูงถึง 574 คันต่อ 1,000 คน

ความสำเร็จของ “เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ต” ในไทยและอีก 5 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากการแก้ปัญหาหลายอย่างให้ลุล่วงไปได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนด้านนี้เร็วขึ้น มากขึ้น, พัฒนาการของอี-เพย์เมนต์, โครงสร้างของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโมบายพัฒนาขึ้น, ผู้บริโภคเริ่มไว้วางใจการจ่ายเงินออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น

นั่นทำให้สภาวะแวดล้อม ที่ฝรั่งเรียกว่า อีโคซิสเต็ม ของธุรกิจออนไลน์โดยรวมพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากจนได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่เห็นกัน

แต่ความท้าทายก็ยังคงมีครับ กูเกิล-เทมาเส็กบอกว่า ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจออนไลน์ในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นเรื่องของบุคลากร ที่ยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจนกลายเป็นความขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิศวกรระบบระดับอาวุโส รวมไปถึงระดับผู้บริหาร

ที่ในที่สุดก็จำเป็นต้องพึ่งพาผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความรู้ความชำนาญในด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นดีพอแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรได้ กิจการออนไลน์ในไทยหรือเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน มีสิทธิกลายเป็นกิจการระดับโลกได้เลยทีเดียว