เผยแพร่ |
---|
มีคนจำนวนมากที่เริ่มต้นทำธุรกิจโดยอยู่ในรูปของบุคคลคือ ไม่ได้ตั้งเป็นบริษัท พอทำมาหาได้เท่าไรก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ดูเป็นสุขสบายดี ทำไมจึงมีคนชอบบอกว่าให้เปลี่ยนไปทำในรูปบริษัทแทน
หากธุรกิจที่ทำนั้นมีรายได้เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องมาตลอดและมีแนวโน้มจะดีขึ้นอีกในอนาคต การทำธุรกิจผ่านบุคคลธรรมดา อาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์ ทั้งในแง่ทีมงานที่ต้องขยับขยาย ความน่าเชื่อถือต่อกลุ่มลูกค้า ที่สำคัญคือ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะสูงขึ้นตามลำดับขั้นของเงินได้ที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราภาษีสูงสุดมีอัตราสูงกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักค่าใช้จ่ายในลักษณะอัตราเหมาคือ มีเพดานค่าใช้จ่าย หรือหักลดหย่อนได้ในวงเงินที่จำกัด ในขณะที่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล หักค่าใช้จ่ายตามจริง (โดยต้องเก็บเอกสารหลักฐานและจัดทำบัญชี) นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลในแง่ของการไม่มีระบบบัญชีรองรับการทำธุรกิจของบุคคลธรรมดา ทำให้ขาดข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินธุรกิจ
ความแตกต่างของการทำธุรกิจโดยอยู่ในรูปบุคคลธรรมดา และบริษัทนั้น มีโดยสังเขปดังต่อไปนี้
- บริษัทมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คน (มีแนวคิดว่าจะแก้กฎหมายให้บริษัทสามารถจัดตั้งได้ โดยเหลือผู้ถือหุ้นเพียง 1 คน ในอนาคต) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ทำธุรกิจซึ่งมีจำนวนมากที่ตั้งบริษัทโดยไม่มีผู้ถือหุ้นอื่น นัยว่าเป็นกิจการเจ้าของคนเดียวแต่อยากจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด
- อัตราภาษี บุคคลธรรมดา อยู่ในช่วง 5-35% ในขณะที่บริษัท (หากมีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท) อัตราภาษี 15-20 % และบริษัทที่ทุนมากกว่า 5 ล้านบาท เสียภาษี 20% (ดูตารางอัตราภาษีประกอบ)
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | |
เงินได้ | อัตราภาษี |
0-150,000 | 0% |
150,001-300,000 | 5% |
300,001-500,000 | 10% |
500,001-750,000 | 15% |
750,001-1,000,000 | 20% |
1,000,001-2,000,000 | 25% |
2,000,000-5,000,000 | 30% |
เกินกว่า 5,000,000 | 35% |
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล กิจการ SMEs ทุนไม่เกิน 5 ล้าน รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท | |
กำไรสุทธิ | อัตราภาษี |
0-300,000 | 0% |
300,000-3,000,000 | 15% |
3,000,000 ขึ้นไป | 20% |
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล กิจการที่ไม่ใช่ SMEs | |
อัตราภาษี | |
กำไรสุทธิ | 20% |
- บุคคลธรรมดา หักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ (1) ตามความจำเป็นและสมควร (ตามจริง) ซึ่งต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและเกี่ยวข้องกับการหารายได้ และมีหลักฐานหรือเอกสารค่าใช้จ่ายประกอบ แต่จำกัดเฉพาะเงินได้บางประเภทที่สามารถเลือกหักแบบนี้ได้ และ (2) หักรายจ่ายเป็นการเหมา (ไม่ต้องมีหลักฐานหรือเอกสารค่าใช้จ่ายประกอบ) ส่วนบริษัทหักรายจ่ายตามที่จ่ายไปจริงโดยมีหลักฐานและเอกสารประกอบ มีการบันทึกบัญชีตามระบบบัญชี
- หากบุคคลธรรมดาดำเนินธุรกิจขาดทุนยังคงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่บริษัทเสียภาษีจากกำไรสุทธิจึงไม่ต้องเสียภาษีในปีที่ขาดทุน และนำผลขาดทุนยกไปหักในปีที่มีกำไรได้ไม่เกิน 5 รอบบัญชี
- บุคคลไม่ต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี และไม่ต้องนำส่งงบการเงิน ส่วนบริษัทต้องจัดทำบัญชีและนำส่งงบการเงิน
- มีกฎหมายให้สิทธิประโยชน์แก่กิจการที่แปรสภาพจากบุคคลไปเป็นนิติบุคคล โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ที่เกิดจากการโอนทรัพย์สินจากบุคคลไปให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมารองรับ เช่น โอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง โดยต้องเป็นการโอนทรัพย์สินในช่วงวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้น และลงรายจ่ายได้ 2 เท่า ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยนำค่าจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี ได้ 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
- มีการปรับอัตราค่าใช้จ่ายที่หักเป็นการเหมาสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ 2 ประเภท คือ เงินได้จากการรับเหมา (เดิมหักได้ 70% เหลือหักได้ 60%) และเงินได้จากการทำธุรกิจ (เดิมหักได้ 65-85% เหลือหักได้ 60%)
- การดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัด เป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ถือหุ้นตามจำนวนเงินที่ลงหุ้นไว้ ในขณะที่การดำเนินธุรกิจโดยบุคคลธรรมดานั้น ความรับผิดชอบไม่จำกัด และหากมีภาระหนี้สินเกิดขึ้นกับบุคคลธรรมดา จะกระทบต่อทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้นั้นด้วย
การดำเนินธุรกิจในรูปบริษัทนั้น แน่นอนว่าจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือคนๆ เดียว ได้แก่ การมีภาระความรับผิดชอบเกี่ยวกับพนักงาน การนำส่งเงินภาษีจากเงินเดือน การนำส่งเงินประกันสังคมของพนักงานและส่วนที่บริษัทสมทบ การมีหน้าที่จัดทำบัญชีและนำส่งงบการเงิน เป็นสิ่งที่ตามมาจากการเป็นบริษัท
อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาโดยเปรียบเทียบต้นทุนและภาระที่เกิดขึ้นกับประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้รูปแบบธุรกิจเป็นบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง การเสียภาษีโดยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักออกจากรายได้ (เนื่องจากบริษัทเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ แต่บุคคลธรรมดาเสียภาษีจากฐานเงินได้พึงประเมิน ซึ่งเท่ากับรายได้ – ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา)
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประโยชน์ที่ผมคิดว่าเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง คือ การที่เราสามารถจำกัดความรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นหากดำเนินธุรกิจในรูปบริษัท ซึ่งผมถือว่าเป็นการกันทรัพย์สินส่วนบุคคลออกจากบริษัท หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า “เป็นการใช้รูปแบบบริษัทเป็นเครื่องมือในการแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบและหน้าที่ของธุรกิจ กับหน้าที่ส่วนบุคคล ออกจากกันได้อย่างชัดเจน”