เที่ยวตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ จันทบุรี

ด้วยความร่วมมือของชาวบ้าน วัด และโรงเรียน ในตำบลตะปอนใหญ่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่ได้เปิดตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม “ชุมชนคุณธรรมวัดตะปอนใหญ่” เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2560 โดยมุ่งขยายพื้นที่ตลาดเดิมที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดตะปอนใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ ที่เพิ่งเปิดตลาดไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ให้ใหญ่ขึ้น จากมีร้านค้า 38 ร้าน เป็น 128 ร้าน ซึ่งจัดเป็นตลาดฮิตติดดาวแห่งหนึ่งสำหรับผู้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

“นิรุต บำรุงสรวง” กำนันตำบลตะปอน เล่าถึงที่มาของตลาดว่า เกิดจากความคิดท่านพ่อพระครูสาราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดตะปอนใหญ่ และเจ้าคณะตำบล รวมทั้งผู้นำหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน อบต.รวมถึงโรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ (เศวตวิทยาคาร) เห็นว่าชุมชนวัดตะปอนใหญ่มีอายุมากกว่า 270 ปี มีมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากไปยังเมืองตราด ควรจัดตั้งเป็นตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้ตลาดชุมชนแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีลานวัฒนธรรมที่ส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน และเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของมิตรภาพความเอื้อเฟื้อต่อกัน

ด้านการออกแบบตลาดแบ่งเป็นส่วน ๆ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และขยายออกไปบริเวณริมรั้วของวัด สามารถเดินเลือกดูสินค้าได้อย่างต่อเนื่องด้วยระยะทาง 200-300 เมตร มีบริเวณลานวัดให้จอดรถได้อย่างกว้างขวางและปลอดภัย เหมาะกับการจับจ่ายซื้อของ มีการจัดบริเวณที่นั่งพักรับประทานอาหาร หรือพูดคุยกันใต้ร่มไม้ใหญ่บริเวณวัด ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ทางเข้าบริเวณตลาดมีแลนด์มาร์กให้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก บรรยากาศงานครึกครื้นด้วยเสียงประชาสัมพันธ์แนะนำอาหารขนมที่มาจำหน่ายเป็นระยะ ๆ

สำหรับตลาดเปิดทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 14.00-18.00 น. และกำหนดให้ร้านค้าขายของซ้ำกันได้ไม่เกิน 2 ร้าน และไม่หยุดติดต่อกันเกิน 2 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ โดยทางวัดจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การสร้างร้านค้า ทำป้ายชื่อ มีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ช่วยจัดระบบจราจรและค่าไฟฟ้า แต่ทุกร้านต้องช่วยกันกำจัดขยะและดูแลความสะอาด มีการบริจาคเงินให้ตามกำลังเดือนละ 30-100 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการเดือนละร่วม 10,000 บาท ที่ผ่านมาได้ยืมเงินวัดมาสำรองก่อน ดังนั้นในปี 2561

คณะกรรมการตลาดมีแผนที่จะขยายตลาดออกไปที่ตำบลเกวียนหักที่อยู่พื้นที่ติดกันอีก 10 หมู่บ้าน และอาจจะเริ่มเก็บเงิน 120 บาท/เดือน เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายและคืนทางวัด

สำหรับ “สมบัติ ประทุม” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ตะปอน อ.กุมภวาปี จ.จันทบุรี ผู้นำหมู่บ้านที่ร่วมก่อตั้งตลาดโบราณ 270 ปี เล่าว่า การหาพ่อค้าแม่ค้ามาขายขนมอาหาร นอกจากความสมัครใจของชาวบ้านที่ต้องการหารายได้เพิ่มแล้ว ต้องช่วยสร้างสีสันด้วยการเสาะหาขนมสูตรโบราณที่อร่อยขึ้นชื่อของหมู่บ้านมาจำหน่ายด้วย เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมตาล ขนมตะไล สูตรคุณยายอายุ 80-105 ปี ซึ่งได้ถ่ายทอดสูตรให้ลูกหลานทำมาขาย และเป็นที่เลื่องลือมาก เพราะรสชาติขนมอร่อย แป้งนุ่ม ไม่เหมือนขนมตามตลาดทั่วไป ขนมเบื้องญวนก็ยังเป็นของโบราณ เจ้าของสูตรมาทำเอง นอกจากนั้นมีของพื้นบ้านที่หายไป เพราะหายากไม่มีคนปลูกและไม่มีคนทำมาขาย เช่น บอนเผาจิ้มน้ำพริกเกลือ แกงส้มบอน แกงส้มใบสันดาน

“ขนมสูตรโบราณที่ลูกหลานทำไม่ได้มุ่งหวังเพื่อจะมาขาย แต่ต้องการให้ตลาดมีสีสัน มีของดี แต่เมื่อมาทำแล้วเขาสนุกชวนกันมาทำในวันหยุด ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ไฮไลต์อย่างผักที่นำมาขายก็ขึ้นอยู่ในทุ่งนา ผักเหล่านี้สด ปลอดสารพิษ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยรักษา ป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น ดอกไก่เตี้ย กระดอม ใบขลู่ ปรง ผักหนาม ใบตับเกียด ใบสันดาน ชาวบ้านเก็บมาขายได้วันละ 1,000-1,200 บาท หรืออย่างน้อยวันละ 500-600 บาท เป็นรายได้ที่ไม่ต้องหักต้นทุน”

ปัจจุบันตลาดได้รับความนิยมมาก มีอาหาร พืชผักของหายากมาขายราคาไม่แพง และเมื่อจังหวัดเลือกให้เป็นตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม มีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียทำให้ตลาดเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดมาเที่ยว คาดว่าฤดูกาลผลไม้คราวหน้าตลาดน่าจะคึกคักมากขึ้น ชาวบ้านสามารถนำผลไม้ที่มีคุณภาพซึ่งเป็นของสดจากสวนมาขายได้ ลูกค้าจะสามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าตลาดทั่วไป

เปิดตลาดโบราณนอกจากรายได้แล้ว คือความรัก ความสามัคคี การสืบสานอนุรักษ์ของคนในหมู่บ้าน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เห็นภาพคนเฒ่าคนแก่วัย 70-80 ปี มาเดินคุยและเลือกซื้อของกัน ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนของตลาดแห่งนี้จึงเป็นเรื่องไม่ไกลนัก

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์