ถั่วลิสงหลังนา หนึ่งทางเลือกเพื่อการสร้างรายได้

ขณะนี้ชาวนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่างเร่งเก็บเกี่ยวข้าวป้อนเข้าสู่ตลาด พร้อมเก็บผลผลิตบางส่วนไว้บริโภคเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน และยังมีการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ในรอบการผลิตถัดไปเพื่อลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ด้วย  ขณะเดียวกันเกษตรกรบางกลุ่มยังเร่งเตรียมความพร้อมปลูกพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้หลังเก็บเกี่ยวข้าว และใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งการปลูกถั่วลิสงหลังนาเป็นทางเลือกหนึ่งโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ปลูกถั่วลิสงหลังนาเสริมรายได้ พร้อมเพิ่มปริมาณผลผลิตถั่วลิสงคุณภาพป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูป ช่วยลดปริมาณการนำเข้าถั่วลิสงจากประเทศเพื่อนบ้านได้ค่อนข้างมาก

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า  ใน 2560  มกอช. ได้ส่งเสริมการปลูกถั่วลิสงหลังนาในพื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอเขื่องใน อำเภอตระการพืชผล และอำเภอนาเยีย  พื้นที่นำร่อง จำนวน 200  ไร่ เกษตรกร 130 ราย โดยเน้นพื้นที่ที่ได้รับการรับรองข้าว GAP  เพื่อต่อยอดการรับรองมาตรฐาน GAP ถั่วลิสง ในส่วนของ มกอช. ได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการผลิตถั่วลิสงตามมาตรฐาน GAP แก่เกษตรกร  รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานการผลิต การเก็บเกี่ยวและการรักษาคุณภาพหลังเก็บเกี่ยว และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ตลาดมีความต้องการสูง และไรโซเบียม เป็นต้น ตลอดจนช่วยประสานเชื่อมโยงกับผู้รับซื้อเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้เกษตรกรด้วย

ผลการส่งเสริมรอบการผลิตแรก ในต้นปี 2560 ปรากฏว่า เกษตรกรได้ผลผลิตถั่วลิสงหลังนาเฉลี่ย 196 กิโลกรัมต่อไร่ บางรายที่มีระบบการจัดการแปลงที่ดีได้ผลผลิตสูงถึง 620 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายถั่วลิสงสูงถึง 10,000 บาท บางส่วนมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลถัดไป ขณะเดียวกันถั่วลิสงยังเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าวในรอบการผลิตหน้า นอกจากนั้น จังหวัดอุบลราชธานียังมีความสนใจรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกถั่วลิสงหลังนาเพิ่มขึ้นด้วย

ปี 2561 นี้ มกอช. จึงได้มีแผนขยายผลต่อยอดโครงการพัฒนาการปลูกถั่วลิสงหลังนาข้าวตามมาตรฐาน GAP ในพื้นที่นาข้าวแปลงใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี  ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยหลังการทำนา เพื่อทดแทนและลดการทำนาปรังโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนจำกัด และสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรหลังเก็บเกี่ยวข้าว ทั้งยังเป็นการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดการทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ในช่วงฤดูแล้ง

ในเบื้องต้นมีเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกถั่วลิสงหลังนาไปยังพื้นที่นาข้าวแปลงใหญ่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอเขื่องใน และอำเภอศรีเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่า จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกถั่วลิสงหลังนาเพิ่มขึ้นเป็น 300 ราย พื้นที่ 500 ไร่

โดย มกอช. ได้ฝึกอบรมให้ความรู้การปลูกถั่วลิสงตามมาตรฐาน GAP เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 และไรโซเบียม เกษตรกรจะเร่งเตรียมดินและเริ่มทยอยปลูกถั่วลิสงหลังนาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2560 นี้ ทั้งนี้ มกอช. ตั้งเป้าหมายพื้นที่ปลูกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่น้อยกว่า 60% ของพื้นที่ทั้งหมด และได้ผลผลิตถั่วลิสงคุณภาพเพิ่มขึ้น 150,000 กิโลกรัม ซึ่งจะทยอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นไป สามารถช่วยลดการนำเข้าเมล็ดถั่วลิสงจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง