“พินิจ จารุสมบัติ” วิเคราะห์ตลาดยางพารา ปี 61 พัฒนา “งานยางพาราบึงกาฬ” ต่อยอดธุรกิจไทย

อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีมูลค่าส่งออกเกือบ 7 แสนล้านบาท ดังนั้น การเติบโตของอุตสาหกรรมยางพารา จึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงการเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 

หากใครอยากรู้ว่า ตลาดการค้า การลงทุนของอุตสาหกรรมยางพาราไทยในปีนี้ จะเติบโตไปในทิศทางไหนนั้น สามารถหาคำตอบได้จาก บทสัมภาษณ์พิเศษ “คุณพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้ในฉบับนี้

คุณพินิจ จารุสมบัติ

สถานการณ์ยางพาราของประเทศไทย

ช่วงที่ผ่านมา ราคายางพาราอยู่ในทิศทางขาลง ขายยางแทบไม่เหลือผลกำไรติดกระเป๋าหรือบางรายอาจขาดทุนได้ หากบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้ไม่ดีพอ วิกฤตราคายางตกต่ำอาจทำให้เกษตรกรชาวสวนยางบางรายรู้สึกเสียขวัญกำลังใจไปบ้าง เพราะต้องใช้ชีวิตอย่างฝืดเคือง แต่อาชีพการทำสวนยางยังมีข้อดีอยู่บ้างคือ มีเงินสดหมุนเวียนไหลเข้ามือเกษตรกรได้ทุกวัน

แม้สถานการณ์ราคาน้ำยางสดในวันนี้ไม่สู้ดีเหมือนในอดีต แต่ราคาไม้ยางกลับพุ่งสูงขึ้นมาก สำหรับเกษตรกรที่มีต้นยางเก่า หมดอายุการกรีดแล้ว หากตัดต้นยางออกขายในตอนนี้ จะมีรายได้จากการขายไม้ยาง ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 70,000-80,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยของเนื้อไม้ยางเป็นหลัก

ทุกวันนี้ ประเทศที่ไม่มีต้นยาง ไม่มีสวนยาง กลับเป็นผู้ควบคุมกำหนดราคายางพาราในตลาดโลกได้ เพราะเขามีโรงงานและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการแปรรูปยางล้อรถยนต์ ยางล้อเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ยางสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรประเภทต่างๆ ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงไม่สามารถกำหนดราคาขายยางพาราได้ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ฯลฯ

Advertisement

นโยบายส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นับเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องที่สุด เพราะส่งเสริมให้เกษตรกรไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจการแปรรูปยาง  เพิ่มบทบาทเป็นผู้ผลิตกลางน้ำ ซึ่งกระบวนการแปรรูปน้ำยางสด เป็นน้ำยางข้น ก็เพิ่มมูลค่าสินค้าได้อีกกิโลกรัมละ 6-7 บาท หากแปรรูปเป็นยางแท่ง ก็เพิ่มรายได้มากขึ้นอีกหลายสิบบาทต่อกิโลกรัม หากสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ ยิ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้สุดยอดที่สุด เพราะยางล้อรถยนต์ในปัจจุบัน มีราคาเกือบหมื่นบาท

 

Advertisement

จีนยินดีแลกยางล้อรถกับยางไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีน ผมได้เสนอแนวคิดว่า ขอให้ไทยนำยางแท่ง ยางแผ่น มาแลกยางล้อรถยนต์ของจีนได้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจีนยินดีแลกเปลี่ยนยางไทยกับยางล้อรถยนต์ของจีน ผมจึงอยากนำเสนอแนวคิดให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคมของไทย ซึ่งปกติต้องซื้อยางล้อรถจำนวนมาก ในกิจการรถขนส่ง รถเมล์ รถบรรทุก ประกาศรับซื้อยางแท่ง ยางแผ่นรมควันจากกลุ่มเกษตรกรสวนยาง ในราคาที่เหมาะสม เพื่อนำยางที่ซื้อจากเกษตรกรไปแลกกับล้อยางรถยนต์ของจีนในอนาคต

ทางฝ่ายจีนยินดีเปิดการเจรจาในประเด็นนี้ โดยเปิดโอกาสให้ไทยกำหนดสเปกคุณภาพล้อยาง และกำหนดราคาตามสภาพสินค้า หากแนวคิดนี้สามารถนำไปใช้ ในอนาคตจะช่วยดึงผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเข้าสู่ตลาดและช่วยยกระดับราคายางภายในประเทศแล้ว สินค้ายางประเภทอื่นๆ ก็มีโอกาสส่งออกไปด้วยเช่นกัน ได้แก่ หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ฯลฯ

 

ฟันธง ราคายางปีนี้แตะ 65 บาท/กิโลกรัม

ผมมั่นใจ ราคายางพาราในปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้น วิเคราะห์จากแนวโน้มการใช้ยางในตลาดโลก สังเกตว่า ปริมาณผลผลิตยางโดยรวมยังไม่สูงกว่าปริมาณการใช้ยางจริง ประกอบกับตัวเลขราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงตลอด ปริมาณสต๊อกยางที่อยู่ในมือประเทศผู้ใช้ยางก็มีสัดส่วนไม่มาก ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ยกตัวอย่าง เช่น

กลุ่ม BRIC ประกอบด้วยประเทศ บราซิล รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปีนี้ เศรษฐกิจของจีนมีโอกาสเติบโตถึง 7%  รัสเซียแม้เจอมาตรการคว่ำบาตร (sanctions) ทางการค้าจากหลายประเทศ แต่เศรษฐกิจรัสเซียก็ยังเติบโตต่อเนื่อง

อินเดีย เป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ อันดับ 4 ถึงอันดับ 5 ของโลก แต่ละปีมีผลผลิตไม่ถึงล้านตัน อินเดีย นอกจากเป็นทั้งผู้ผลิตยางแล้ว ยังเป็นผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกอีกด้วย เศรษฐกิจอินเดียเติบโตมาก จึงสั่งซื้อยางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะยางแท่ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางล้อรถยนต์ ด้านเศรษฐกิจของบราซิล แอฟริกาใต้ ก็เติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน

หลังจากจีนประกาศใช้ นโยบาย One Belt One Road ประเทศไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน ก็มีแนวโน้มได้รับประโยขน์จากจีน ทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และด้านวัฒนธรรม เนื่องจากนโยบาย One Belt One Road ของจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียน สร้างเครือข่ายเชื่อมต่อท่าเรือต่างๆ ตามเส้นทางสายไหมทางทะเล และเส้นทางสายไหมทางบก

เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ผมเชื่อว่า สถานการณ์ราคายางแผ่นชั้น 3 ของไทย ในปี 2561 จะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 65 บาท อย่างแน่นอน ทุกวันนี้ต้นทุนการผลิตยางแผ่นอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ยังเหลือผลกำไร หากเจ้าของสวนยางรายใดสามารถดูแลจัดการสวนได้ดี ดึงต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง จะทำให้มีผลกำไรเพิ่มมากขึ้นไปอีก

 

เป้าหมายการจัดงาน วันยางพาราบึงกาฬ  

ทุกวันนี้ การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ถือว่า หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของไทย เพราะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม มีผลต่อ จีดีพี ของประเทศ เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับเกษตรกรกว่าแสนครัวเรือนทั่วประเทศ ดังนั้น ตัวเลขรายได้จากอุตสาหกรรมยางพารา จึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงปากท้องคนไทยทั่วประเทศ

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึง ปี 2560 ประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ เพราะสร้างคุณค่าด้านวิชาการ โดยเปิดเวทีแห่งการเรียนรู้วิชาชีพเรื่องยางพาราในทุกแง่มุม ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูกกล้ายาง การเลือกซื้อพันธุ์ยาง การดูแลให้ปุ๋ย ให้น้ำ ในสวนยาง เพิ่มทักษะเรื่องการกรีดยาง การแปรรูปยาง ฯลฯ

เมื่อเกษตรกรเรียนรู้และเข้าใจขั้นตอนการปลูกดูแลสวนยางพาราอย่างเหมาะสม เท่ากับลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตยางคุณภาพดีป้อนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาที่ดี ขณะเดียวกันเกษตรกรได้เรียนรู้เทคนิคการแปรรูปยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้ แม้ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ

กล่าวได้ว่า การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬทุกครั้ง ช่วยยกระดับความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถเรื่องการปลูกดูแลยางที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมาก นับเป็นสุดยอดเวทีแห่งการเรียนรู้เรื่องยางพาราแบบครบวงจรอย่างแท้จริง

 

กิจกรรม “วันยางพารา บึงกาฬ 2561”

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ระหว่าง วันที่ 17-23 มกราคม 2561 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจยางพาราของไทยให้เติบโตก้าวหน้า โดยจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ มากมาย เช่น “ประกวดชิงแชมป์กรีดยางระดับจังหวัด” โดยใช้มีดกรีดยางแบบเก่าและมีดกรีดยางนกเงือก เพื่อชิงเงินรางวัลหลักแสน คาดว่ามีเกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วประเทศ รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง จาก สปป.ลาว เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างคึกคัก นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมประกวดร้องเพลง ประกวดกองเชียร์ ภายในงานดังกล่าวด้วย

ตื่นตากับนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ยกตัวอย่าง เช่น “มีดกรีดยางนกเงือก” ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมของคนไทย ที่ออกแบบพัฒนามีดกรีดยางรูปแบบใหม่ ที่มีจุดเด่นสำคัญคือ ช่วยยืดอายุการกรีดยางให้ยาวนานมากขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำยางต่อต้นให้สูงขึ้น มีดกรีดยางนกเงือก กำลังได้รับความนิยมสูงในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางของไทยและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ

เมื่อปีที่แล้ว จีนได้นำเสนอนวัตกรรมเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสะดวก ทันสมัย แต่มีราคาค่อนข้างสูง ตกราคาตัวละ 5,000 บาท ผมเจรจาขอเช่าเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันกับจีน ในอัตราส่วน 40:60 หรือ 50:50 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ สำหรับในปีนี้คาดว่าจีนจะนำอุปกรณ์เครื่องกรีดยางไฟฟ้า (ใช้แบตเตอรี่) มาโชว์ให้ชมในงานวันยางพาราบึงกาฬ

เปิดเวทีเจรจาคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ซื้อซึ่งเป็นนักธุรกิจไทยและต่างชาติ กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ภายในงานเตรียมจัดกิจกรรมเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) ระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจจีน ซึ่งเป็นการยืนยันบทบาทงานวันยางพาราบึงกาฬว่า เป็นเวทีกลางในการเจรจาการค้ายางพาราที่สำคัญของประเทศไทยกับนานาชาติไปแล้ว

3 ผู้นำหลัก ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพารา เช่น การนิคมแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  สถาบันเอ็มเทค ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาหลายแห่ง บริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์  โรงงานแปรรูปยางประเภทต่างๆ จะร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปยาง ในรูปนิทรรศการและการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติ ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและประชาชนทั่วไป

ทุกวันนี้ การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ กลายเป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้และอุปกรณ์สินค้าเกษตร จึงดึงดูดความสนใจให้เกษตรกรไทยและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมากแล้ว งานดังกล่าวยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น เกษตรกรจาก สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในแต่ละปี ยิ่งเพิ่มดีกรีความยิ่งใหญ่ ทั้งจำนวนร้านค้า บู๊ธ งานนิทรรศการ กิจกรรมสัมมนาวิชาการ เกษตรกรและประชาชนที่เข้าชมงานวันยางพาราบึงกาฬ จะได้ทั้งองค์ความรู้เรื่องการทำสวนยางและอบรมวิชาชีพ จากมติชนอคาเดมีแล้ว ยังมีโอกาสเลือกซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรอีกมากมาย เช่น มีดกรีดยาง ถุงมือยาง กรรไกรตัดไม้ ปุ๋ย กล้ายางพันธุ์ เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ไม้นานาชนิด รถแทรกเตอร์ เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ จึงขอเชิญชวนเกษตรกรและผู้สนใจร่วมเยี่ยมชมงาน วันยางพารา-กาชาดบึงกาฬ 2561 ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ระหว่าง วันที่ 17-23 มกราคม 2561