มรภ.สงขลา วิจัย ‘ตาลโตนด’ ปรับปรุงพันธุ์-แปรรูปเพิ่มมูลค่า

เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา ได้ผุดงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ “ตาลโตนด” แปรรูปเป็นสินค้าหลากชนิด เพื่อเพิ่มมูลค่าพืชท้องถิ่น โดย น.ส.วาสนา มู่สาอาจารย์โปรแกรมวิชาชีววิทยาและชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ฯ เล่าถึงโครงการวิจัยปลูก ขยายพันธุ์ และแปรรูปน้ำตาลโตนดในคาบสมุทรสทิงพระ ว่า ดำเนินงานใน 2 กิจกรรมคือ 1.นำน้ำตาลสดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น ได้แก่ น้ำตาลแว่น น้ำตาลผง น้ำตาลปึก ไซรัป น้ำส้มสายชูหมัก ไซเดอร์ (น้ำส้มสายชูหมักพร้อมดื่ม) วุ้นน้ำตาลโตนด พลังงานเชื้อเพลิงเอทานอล และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สำเร็จลุล่วงแล้วสู่ชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา และกลุ่มแม่บ้านคลองฉนวน อ.สทิงพระ จ.สงขลา และ 2.ศึกษาการปลูกขยายพันธุ์ และการปรับปรุงพันธุ์ตาลโตนดด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำไปสู่การได้มาซึ่งพันธุ์ตาลโตนดที่ดีต่อไปในอนาคต

ผลการดำเนินงานในกิจกรรมที่ 1 ได้รับความสนใจ และตอบรับจากชุมชนอย่างมาก หลังจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนดถูกถ่ายทอดสู่ชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีความรู้ และความเข้มแข็งในเรื่องการผลิตมากขึ้น กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาศักยภาพ เบื้องต้นได้นำบรรจุภัณฑ์ที่ตนออกแบบไปใช้บรรจุน้ำตาลแว่น และน้ำตาลผง แทนการใช้ถุงพลาสติกใสธรรมดา ปรากฏว่าสร้างรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับน้ำตาลโตนด ที่มีศักยภาพตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ทำให้แรงงานกลับมาสู่ท้องถิ่น และท้องถิ่นมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ส่วนผลการดำเนินการวิจัยในกิจกรรมที่ 2 อยู่ระหว่างทดลองเพาะเนื้อเยื่อพืชในสภาวะต่างๆ ซึ่งค่อนข้างยาก เพราะต้นตาลโตนดเป็นไม้ยืนต้น

ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การกลับมาอนุรักษ์อาชีพการทำน้ำตาลโตนดให้คงอยู่ ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ตาลโตนดโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการส่งเสริมการปลูกตาลโตนดทำให้ได้พันธุ์ตาลโตนดที่ดี และให้ผลผลิตสูง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์