คุยกับ “กรกฎ” ประธานหอการค้านครศรีฯ ผันเกษตรสู่บริการ ขนอม-สิชล แหล่งเที่ยวใหม่มาแรง

เมื่อวงจรของภาคเกษตรยังวนเวียนอยู่กับราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ หลายคนบอกว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนจากสิ่งเดิม ๆ แต่ทำอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “กรกฎ เตติรานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมหาทางแก้ไขกับเกษตรกร ซึ่งได้ยอมรับว่าเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราช คือ ภาคเกษตร แต่กลับยังไม่เห็นโอกาสสดใสในเร็ววันนี้

ตั้งเป้า 3 ระยะแก้ปัญหาเกษตร 

กรกฎบอกว่า หอการค้านครศรีฯ มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ระดับ คือ ระยะสั้น กลาง และยาว โดยระยะสั้น คือ การเติมเงินให้กับประชาชน ด้วยการขับเคลื่อนโครงการเกษตร 4.0 ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผ่านโหมดประชารัฐ เริ่มต้นที่ส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจมูลค่าสูง

โดยหอการค้าตั้งใจไปให้สุดทางใน 3 เรื่อง คือ 1.ฟาร์มอัจฉริยะ 2.สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และ 3.สร้างมาตรฐานการผลิตส้มโอทับทิมสยาม คือ จะมีไกด์บุ๊กให้กับเกษตรกรทุกคน โดยความร่วมมือตรงนี้ เราเริ่มที่ส้มโอทับทิมสยาม และจะขยับไปที่ทุเรียน และมังคุด ในลำดับต่อไป

“ผมแจ้งอาจารย์มหาวิทยาลัยว่าโจทย์ของส้มโอทับทิมสยาม คือ ใหญ่ แดง และหวาน ดังนั้นความรู้ที่จะถ่ายทอดให้เกษตรกรต้องเป็นอะไรที่จับต้องได้ ไม่ใช่เป็นงานวิจัย หรือตำราแบบที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าใจ แต่ต้องการการปฏิบัติสู่ผลลัพธ์นั้น และขับเคลื่อนได้ทันที เช่น ส้มโอทับทิมสยาม คือ สินค้าที่ได้ไอจี ถูกระบุไว้ชัดแล้ว ที่ปากพนัง ฉะนั้นเมื่อรู้อยู่แล้วว่าสภาพดินปากพนังเป็นอย่างไร อาจารย์ก็เพียงบอกว่าวิธีการใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การดูแลรักษา โรค และแมลง เราจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาตามคุณภาพที่เราต้องการ”

รื้อระบบดูแลปาล์ม

ภาคเกษตรในปี 2561 เรามีคาดหวังให้ดีขึ้น แต่ในเรื่องความเป็นจริงต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าสินค้าการเกษตรของเรายังราคาไม่ขยับ เราพยายามจะลดต้นทุนให้เกษตรกรที่มีอยู่ถึง 65% สิ่งที่หอการค้ากำลังเข้าไปทำปัจจุบัน คือ เรื่องปาล์มน้ำมัน โดยจะเข้าไปดูแลเรื่องปัจจัยการผลิตทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย หรือยีลด์ เพราะหลักๆ ปุ๋ยจะเป็นต้นทุนการผลิตประมาณ 15-20% ของการผลิตทั้งหมด ขณะที่ยีลด์มีผลต่อราคา

“ปัจจุบันจากองค์ความรู้ที่อาจารย์ให้เรามา คือ ปุ๋ย มีวัฏจักรของมัน แล้วตัวมันสูญเสียไปในสภาพแวดล้อม ฉะนั้นถ้าใส่ปุ๋ยทุก 6 เดือน ทุก 3 เดือน ไนโตรเจนจะถูกแอปพลายแค่ครั้งเดียวแล้วหายไป เมื่อเรารู้โครงสร้างแบบนี้เราต้องปรับว่าทุกอาทิตย์ควรเติมปุ๋ยไนโตรเจน แต่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรให้ใส่ปุ๋ยถี่ขึ้น และปริมาณน้อยลง เพราะทุกวันนี้เราเล็งเห็นว่าการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรปัจจุบันใช้ปุ๋ยผิดวิธี คือ ใช้เกิน และทำให้ดินเสีย ดังนั้นถ้าเราสามารถลดปริมาณปัจจัยการผลิตลงได้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะเดียวกันยีลด์จะสูงขึ้น”

โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 จะเป็นลักษณะรณรงค์ก่อน และขับเคลื่อนทั้งระบบ คาดว่าเกษตรจังหวัดและเกษตรและสหกรณ์ก็จะขับเคลื่อนพร้อมกับเรา

พลิกเกษตรสู่บริการ-ท่องเที่ยว

สำหรับระยะกลาง เราจะขอเปลี่ยนจากโหมดการเกษตร เป็นภาคบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการแชร์ความเสี่ยงของนครศรีธรรมราช และมองว่าโอกาสในการเปลี่ยนนี้ จะทำให้นครศรีธรรมราชเพิ่มศักยภาพ และเติมเงินให้กับตัวชุมชนได้ โดยในส่วนที่หอการค้าทำ คือ โหมดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เข้าไปคุยกับทางชุมชนว่าจะขับเคลื่อนโดยภาคการเกษตรอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ปัจจุบันภาคการเกษตรเป็นฐาน เราไม่ทิ้งภาคการเกษตร และการเปลี่ยนสู่ภาคบริการและท่องเที่ยว ชุมชนต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนตัวเอง ราว 6 เดือน ถึง 1 ปี

ระยะยาว คือ อุตสาหกรรมการแปรรูป โดยเรากำลังส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจ และนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ พืชผลทางการเกษตร เป็นกรีน อินดัสเตรียล ในพื้นที่ของนครศรีธรรมราช ไม่เพียงเท่านี้ เราจะต่อยอดสิ่งที่เราทำทั้งแวลู เชน คือ ในเมื่อเราส่งเสริมการเกษตรในเรื่องผลไม้แล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคตด้วย

ขนอม สิชล แหล่งเที่ยวฮิตใหม่ 

กรกฎบอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561 มองว่าภาคการใช้จ่ายยังไม่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่การท่องเที่ยวสามารถช่วยได้ เพราะเราเห็นตัวเลขของภาคการท่องเที่ยวฝั่งทะเลทั้งขนอม และสิชล เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราต้องตอบโจทย์ที่จะขับเคลื่อน และโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวจุดนี้ให้ดึงเงินเข้าจังหวัด ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวบนฝั่งที่ยังเงียบอยู่ อย่างน้ำตกกรุงชิง เราต้องโปรโมต เพราะตรงนี้เป็นธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถจะเพิ่มมูลค่า และเอามูลค่าคืนจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ส่วนโครงการ “หลาดหน้าพระธาตุ” ที่ประสบความสำเร็จติดลมบนไปแล้วนั้น ประธานหอการค้านครศรีฯ บอกว่า เป็นการนำต้นทุนที่มีอยู่ในนครศรีธรรมราชมาขาย เป็นการทำให้เกิดบิ๊กแบง หรืออิมแพ็กต์แรง ๆ โดยเลือกโลเกชั่นเป็นหลัก ซึ่งนครศรีธรรมราชเราโชคดีมีพระบรมธาตุเป็นโลเกชั่นหลัก และเป็นศูนย์รวมใจ

“เริ่มจากหลังน้ำท่วมปี 2559 เราจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กระตุ้นให้คนกลับมามีรายได้ ตอนนั้นโจทย์ คือ local economic และ culture experience จะทำให้เกิด culture economic ได้อย่างไร จึงเลือกพระธาตุ มีคุณค่าตั้งแต่อดีต ไม่ได้เสื่อมคุณค่าลง เพียงแต่เราเอาคุณค่าเดิมมาเสริมด้วยบริบทของวัฒนธรรม บวกกับโครงการที่เราทำเป็นแนวคิดของไทยเท่ ทั่วไทย ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ”

บทบาทของหอการค้าวันนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าภาคเอกชนยังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้เกิดความเจริญเติบโตในท้องถิ่นตนเอง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์