วงล้อเศรษฐกิจ : ขึ้นค่าแรงหนุนกำลังซื้อ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

คณะกรรมการค่าจ้างประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแยกตามกลุ่มจังหวัด 7 กลุ่ม ตั้งแต่ 5-22 บาท ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 315.97 บาทต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 1 เม.ย. 2018

จะมีแรงงานทั้งสิ้นประมาณ 12% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ โดยจะส่งผลให้ค่าจ้างสำหรับแรงงานกลุ่มดังกล่าวขยับขึ้นราว 3% YOY ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่ใกล้เคียงกับการปรับเพิ่มในครั้งก่อนเมื่อเดือนม.ค. 2017

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยฟิลิปปินส์มีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อเดือนต.ค. 2017 เฉลี่ย 4.5% YOY ทั่วประเทศ ในขณะที่เวียดนามและกัมพูชามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่องทุกปี ประมาณ 5% YOY และ 9% YOY ตามลำดับ

ขณะที่อีกหลายประเทศก็มีแผนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ ได้แก่ ลาว และเมียนมา ที่กำลังพิจารณาที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เฉลี่ย 33% YOY และ 25% YOY ตามลำดับ

มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของครัวเรือนถ้าการจ้างงานยังซบเซา ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นในรอบนี้ที่ราว 3% YOY ถือเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2018 ที่คาดการณ์ที่ 1.1% YOY ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มกำลังซื้อระดับฐานรากที่น่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงจากสภาวะการจ้างงานที่ซบเซา โดยในปี 2017 แม้ค่าจ้างขั้นต่ำจะถูกปรับเพิ่มขึ้นราว 2% YOY แต่จำนวนการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้กลับลดลง 2.2% โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาและรายได้เฉลี่ยต่อวันลดลง ทำให้กำลังซื้อในภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มของค่าจ้าง การขึ้นค่าจ้างในช่วงที่ความต้องการแรงงานลดลงถือเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว 

สำหรับด้านต้นทุนแรงงานของไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยในปัจจุบันยังคงสูงสุดในภูมิภาคที่ประมาณ 9.5-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันหลังการปรับขึ้น ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ที่ 8 และ 7.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ตามลำดับ

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์