‘บึงกาฬ’ ดันแปรรูป-ส่งออกยาง ทางรอดเกษตรกร

ข้อมูลจาก “สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร” (ปี 2559) รายงานว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เปิดกรีดยางทั้งสิ้น 18,223,833 ไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (อุดรธานี, หนองคาย, เลย, หนองบัวลำภู และบึงกาฬ) มีพื้นที่เปิดกรีดรวมกันไม่น้อยกว่า 1,486,391 ไร่ จาก 2,752,031 ไร่ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ “จังหวัดบึงกาฬ” มีพื้นที่ปลูกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 759,560 ตัน มูลค่ากว่า 17,565 ล้านบาท

“จ.บึงกาฬ” จึงเป็นศูนย์กลางการปลูกยางพาราที่มีศักยภาพสูง และมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานแปรรูป โดยขณะนี้มีโรงงานรับซื้อยางพารารายใหญ่จากภาคใต้เข้ามาเปิดสาขา 4 ราย คือ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด, บริษัท รับเบอร์แลนด์ โปรดักส์ จำกัด ในเครือศรีตรัง, บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น และล่าสุดเป็นกลุ่มทุนจากประเทศจีน ซึ่งพร้อมแล้วที่จะตั้งโรงงานแปรรูปยางเพิ่มอีก 1 ราย

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจีนยังเตรียมตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราที่บึงกาฬแล้ว โดยบริษัท จงเช่อ จำกัด ในเครือรับเบอร์วัลเล่ย์กรุ๊ป

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจาก นายขวัญประชา ระเริง นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ รักษาราชการแทนประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ พร้อมกล่าวต่อว่า นักลงทุนจากอินเดียยังให้ความสนใจลงทุนในไทยเช่นกัน ซึ่งในอนาคต จ.บึงกาฬจะต้องพัฒนาไปสู่การแปรรูป รัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น “อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ” และ “เป็นศูนย์กลางยางพาราของอาเซียน” ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมให้ชาวสวนยางและองค์กรเกษตรมีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาระบบการบริหารจัดการยางพาราให้มีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพเกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

“โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการแปรรูปอย่างจริงจัง เช่น การนำมาผสมทำถนนยางพารา สนามกีฬา และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น หมอนยางพารา หรือให้รัฐบาลจ้างผลิตยางรถยนต์ให้หน่วยงานราชการ ซึ่งจะช่วยระบายยางในประเทศได้จำนวนมาก” นายขวัญประชาอธิบาย

และว่า สมมุติปีนี้ขายยางได้ 3 ล้านตัน ได้เงิน 240,000 ล้านบาท แต่ถ้าขายยางแปรรูป 1 ล้านตัน จะได้เงินเกือบ 400,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ “หมอนจากยางพารา” โดยหมอน 1 ใบ ใช้ยางเฉลี่ย 3 กิโลกรัมเศษ ในห้างสรรพสินค้าขายใบละ 900 บาท หากเกษตรกรแปรรูปขายใบละประมาณ 300 บาท ก็เท่ากับได้ยาง กก.ละ 100 บาท.

นายขวัญประชากล่าวต่อว่า เมื่อดูจากขนาดตลาดของเครื่องนอนของประเทศไทยมูลค่าตลาดโดยประมาณ 7,000 ล้านบาท/ปี แบ่งออกเป็นตลาดแบรนด์เนม หรือตลาดบนประมาณ 3,500 ล้านบาท และตลาดล่างแบรนด์ในประเทศ 3,500 ล้านบาท ลักษณะการขายของตลาดบนจะเน้นขายคุณภาพและนวัตกรรม แต่ในตลาดล่างการขายให้ผู้บริโภคจะเป็นลักษณะตรงกันข้าม เน้นราคาถูก ใช้วัสดุคุณภาพต่ำ เป็นต้น

“ขณะที่เกษตรกรใน จ.บึงกาฬมากกว่าร้อยละ 90 นิยมแปรรูปยางพารา โดยผลิตเป็นยางก้อนถ้วยซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ ทำให้เกษตรกรต้องยอมรับราคาตลาดที่ปรับตัวลดลงจากเดิมอย่างมาก ซึ่งถ้าเกษตรกรมาปรับกระบวนการคิด เกษตรกรจะสามารถเพิ่มรายได้โดยเฉลี่ย 3-4 บาทในการขายน้ำยางสด นอกจากนี้ น้ำยางสดสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมากมาย จึงเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่งถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว” นายขวัญประชากล่าว

ดังนั้น จ.บึงกาฬ โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางหนองหัวช้าง หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ การยางบึงกาฬ และตัวแทนจากศูนย์วิจัยยางหนองคาย จึงจัดทำโครงการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการจำหน่ายยางพาราของเกษตรกร ภายใต้โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตและแปรรูปยางพารา เพื่อปรับแนวคิดเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราใน จ.บึงกาฬ ให้ความสำคัญในการผลิตน้ำยางสดมากกว่าการผลิตยางก้อนถ้วย โดยมีการผลิตรายการสดให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ “บึงกาฬสัมพันธ์” เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดบึงกาฬ และสถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ 31 สถานี

พร้อมจัดเวทีเสวนาอนาคตทิศทาง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นและสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา หวังให้เกษตรกรร้อยละ 10 ของครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั้งหมดหันมาผลิตน้ำยางสด และจำหน่ายผ่านกระบวนการของสหกรณ์ เพื่อรองรับโรงงานแปรรูปยางพาราที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.บึงกาฬประมาณกลางปี 2561

สอดรับกับ นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ที่กล่าวว่า สิ่งสำคัญของน้ำยางสดคือ ปลอดสารพิษ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน มลภาวะเป็นพิษน้อยลง และไม่มีสารพิษตกค้าง

ด้านผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬนั้น เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันแรกที่จัดจำหน่าย ซึ่งนำมาขายใน “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2561” จำนวนกว่า 10,000 ใบ ในราคา 360 บาทเท่านั้น ส่วนเรื่องการวิจัยกว่าจะได้ “หมอนยางพารา” มาใช้นั้น นายนิพนธ์กล่าวว่า มี อ.นพรัตน์ วิชิตชลชัย เป็นผู้จัดทำอยู่แล้ว เพียงแต่ติดขัดเรื่อง “เงิน” สำหรับใช้หมุนเวียน ตลอดจนการดำเนินการด้วย

นิพนธ์ คนขยัน

“ผลิตภัณฑ์ตอนนี้มีแค่หมอน ในอนาคตถ้ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณลงมา เราจะมีที่นอนด้วย ซึ่งเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะถ้าไม่มีทุนก็เดินไม่ได้ การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือต้องแก้ตรงนี้ รัฐบาลต้องให้เงินสนับสนุนเกษตรกร โดยการนำยางไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า หากชดเชยไร่ละ 10,00 บาท อย่างที่รัฐบาลในอดีตเคยทำ วันนี้ก็ยังเหมือนเดิม เพราะเงินที่ให้ไปไม่นานก็หมดแล้ว” นายนิพนธ์กล่าว

นายนิพนธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากถึงรัฐบาลว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อระบายยางออกไปให้มากที่สุด ส่วนที่ท่านสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย เสนอแนะเรื่องงบประมาณสนับสนุน โดยให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“ผมเข้าใจ แต่วันนี้เรื่องปัญหายางพาราก็ต้องแก้ไขเช่นกัน”