ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หน้ามรสุมมาแล้ว สิ่งที่สร้างความหวาดหวั่นไม่เพียงมวลน้ำก้อนใหญ่-ฝันร้ายของคนเมือง ยังมีบรรดาสัตว์ที่หลบน้ำท่วมมาขออาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
หนึ่งในนั้นที่เจอะเจอค่อนข้างบ่อยก็คือ งู
โดยเฉพาะบ้านจัดสรรที่มีทุ่งหญ้าเขียวจขีอยู่ข้างๆ หรือหลังบ้าน แต่เผลอไผลไม่นานก็สูงท่วมแข้งเข่า กลายเป็นที่ซ่อนตัวของบรรดางูเงี้ยวเขี้ยวขอ บางบ้านอาจจะได้น้องเหมียวหรือน้องหมาเป็นปราการด่านแรก
แต่ทว่าจะรู้ได้อย่างไรว่างูตัวไหนมีพิษหรือไม่มีพิษพอที่สามารถวางใจให้น้องเหมียวหรือน้องหมาเป็นธุระให้ได้?
ในที่ประชุมพิษวิทยา ซึ่งสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์สาขาวิชาพิษวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นบรรยายให้ความรู้ว่า งูพิษกัดยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วย
ถูกงูกัดประมาณ 5,000 รายต่อปี อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยลดลงเหลือประมาณ 2,000 รายต่อปีในปี 2557
ทั้งนี้ งูพิษที่สำคัญในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ กล่าวคือ
1.งูที่มีพิษต่อระบบประสาท คือ งูเห่าไทยและงูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูสามเหลี่ยงหางแดง
สังเกตว่าผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น หนังตา มีอาการหนังตาตกซึ่งต่อมาจะเป็นมากขึ้น กลืนลำบาก พูดไม่ชัด สำลัก แขนขาอ่อนแรง หายใจไม่สะดวก และสุดท้ายจะหยุดหายใจ
“ในภาพยนตร์หรือละครที่บอกว่าให้เขย่าตัว อย่าให้หลับ ที่จริงแล้วไม่เกี่ยวแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะหนังตาตก ซึ่งบ่อยครั้งที่คนไข้อยู่ในห้องไอซียู หมอทำอะไร รู้ตัวตลอด เพียงแต่ขยับตัวไม่ได้ และพูดไม่ได้เท่านั้น”
อาจารย์หมอสุชัยบอก และว่า ในกลุ่มนี้ งูเห่าและงูสามเหลี่ยม จะมีความคล้ายคลึงกันมากตรงที่คนไข้เสี่ยงต่อการหยุดหายใจเหมือนกัน แต่ความแตกต่างอยู่ที่ลักษณะของบาดแผล
งูเห่า งูจงอาง กัดแล้วแผลฟกช้ำดำเขียวมาก สุดท้ายก็จะมีเนื้อตาย
แต่งูสามเหลี่ยมแทบจะไม่มีแผลเลย มีแค่รูเล็กๆ 2 รู เจ็บนิดเดียว อย่างมีครั้งหนึ่งที่ญาติคนไข้เชื่อว่าคนไข้เป็นโรคไหลตาย แต่มาเจอว่าถูกงูกัด
2.งูที่มีพิษต่อระบบโลหิต คือ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ แยกความแตกต่างกันที่บาดแผล ถ้าเป็นงูแมวเซาแผลจะไม่บวมมาก แต่ถ้างูเขียวหางไหม้แม้พิษไม่มาก แต่แผลจะบวมมาก ที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการถูกกัดที่ปลายนิ้ว เพราะพิษจะไม่ไปไหน เป็นผลให้นิ้วเน่า แต่ถ้ากัดที่อื่นพิษกระจายทั่วตัว สามารถขับออกได้
งูกะปะ กัดแล้วจะมีถุงน้ำ อาจมีตุ่มน้ำเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงปลายแขนปลายขาไม่ได้ ทำให้เนื้อตาย ผู้ป่วยถูกงูกะปะหลายรายจึงต้องตัดแขนตัดขาเพราะเนื้อตาย
งูกลุ่มนี้ อาจารย์หมอสุชัยบอกว่า ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคนี้คือ “งูแมวเซา” เพราะนอกจากจะทำให้เลือดออกเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้เกิดอาการไตวายเฉียบพลัน โดยเฉพาะในประเทศพม่า ซึ่งหนึ่งในสามของผู้ป่วยที่เป็นไตวายเฉียบพลันมาจากถูกงูแมวเซากัด
3.งูที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ คือ งูทะเล งูแมวเซา ซึ่งผู้ป่วยที่ถูกงูทะเลกัดแยกแยะได้ง่ายที่สุด เนื่องจากจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อทั้งตัว ปัสสาวะสีเข้ม และปัสสาวะออกน้อย
4.งูที่มีพิษอ่อน เช่น กลุ่มงูพิษเขี้ยวหลัง ได้แก่ งูปล้องทอง งูต้องไฟ งูลายสาบคอแดง งูหัวกะโหลก ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่มีอาการ หรือมีเพียงแค่ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ถูกกัด แต่ก็มีรายงานการเป็นพิษต่อระบบโลหิตจากการถูกงูลายสาบคอแดงกัดและเสียชีวิตในรายที่รุนแรง
“งูพิษที่มักเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต ได้แก่ งูเห่า งูทับสมิงคลา และงูกะปะ โดยงูพิษที่พบว่ามีผู้ถูกกัดบ่อยที่สุดคือ งูเขียวหางไหม้ และงูกะปะ”สิ่งที่ควรจะรู้คือ คนไข้ถูกงูกัด ต้องไม่วิ่งมากๆ เพราะเมื่อเลือดมีการบีบตัวมาก พิษงูก็จะดูดซึมได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญคือ การ “ขันชะเนาะ” ควรเลิกทำได้แล้ว เพราะมีข้อพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นประโยชน์ และถ้าขันแน่นเกินไปจะยิ่งเป็นผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำ
“ปัจจุบันเราสอนการปฐมพยาบาลว่าไม่ให้ขันชะเนาะ ทั้งๆ ที่เรารู้ข้อมูลนี้มา 20 ปีแล้ว แต่สำหรับประชาชนยังทำอยู่ เพราะอะไร เพราะยังเขียนอยู่ในตำราสุขศึกษา ป.1-ป.4”
นอกจากนี้เรื่องของการดูดพิษงู ไม่ควรทำ รวมทั้งการทายาที่บาดแผล เพราะวิธีการเหล่านี้กลับจะทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้นไปอีก
เมื่อถูกงูกัด วิธีง่ายๆ คือ พยายามมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด บางคนถูกงูกัดขึ้นไปควานหาไม้หน้าสามมาตีงูเพื่อนำมาโรงพยาบาล แต่ก็เจอบ่อยว่า งูที่นำมาเป็นคนละตัวกับงูที่กัด ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องตีงูมาให้ดู แต่พาตัวเองมาหาหมอโดยเร็วเป็นดีที่สุดในกรณีของการถูกงูพิษกัด ถ้าอาการเหมือนจะหลับ นั่นคืออาการอัมพาต ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งมีเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่ถ้าคนไข้หมดสติ สิ่งที่ช่วยได้คือ ให้รีบผายปอด
ทั้งนี้ ในประเด็นของถิ่นที่อยู่อาศัยของพิษงูนั้น ถ้าเป็น “งูแมวเซา” จะพบมากในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก “งูกะปะ” มีชุกชุมในภาคใต้และภาคตะวันออก “งูเขียวหางไหม้” มีมากในกรุงเทพมหานคร ส่วน “งูเห่า” พบได้ทั่วประเทศไทย
งูที่มักพบเจอตามบ้าน ผศ.นพ.สุชัยบอกว่า มีด้วยกัน 3 ชนิดคือ งูเห่า งูเขียวหางไหม้ และงูกะปะ
“สำหรับคนทั่วไปการจะแยกแยะว่างูตัวไหนมีพิษหรือไม่มีพิษไม่ง่ายต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะลำพังงูเขียวกับงูเขียวหางไหม้บางครั้งก็แยกไม่ออก เพราะงูเขียวหางไหม้บางตัวที่หางก็ไม่ไหม้ ทางที่ดีคือ โทรเรียกเจ้าหน้าที่กู้ภัยให้มาจัดการจะดีที่สุด
หรือถ้าจวนตัวจริงๆ ให้หาไม้ยาวๆ เขี่ยให้ออกห่างจากตัว หรือหาถังครอบไว้ แล้วรอเจ้าหน้าที่มาจัดการต่อ”
กรณีที่ต้องเผชิญหน้ากับงูเห่า หรืองูจงอาง เนื่องจากงูทั้งสองชนิดนี้เป็นงูที่ต้องยกตัวขึ้นสูงเวลาที่จะฉก เพราะเขี้ยวสั้นมาก จึงต้องโยกตัวเพื่อให้มีแรงเหวี่ยงในการฉก เมื่อปะหน้าให้ถอยหลังยาวๆ 1 ก้าวคะเนให้พ้นรัศมีการยกตัวของงู จากนั้นให้รีบหันหลังวิ่งหนีในทันที
“ถ้าเป็นจงอาง ซึ่งเป็นงูใหญ่ พิษเยอะ และพิษมีความเหนียวมาก เมื่อกัดแล้วจะกัดคาค่อยๆ ปล่อยพิษ ให้ช่วยกันง้างปากงูออก ซึ่งบางคนเอามีดสับหัวงูหิ้วมาที่โรงพยาบาลเลยก็มี แต่ถ้างูแค่ฉกแล้วหนีไป เช่นในกรณีที่งูตกใจจะไม่ปล่อยพิษ”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์หมอสุชัยย้ำว่า จะให้ดีในหน้าฝนนี้เพื่อเป็นการป้องกันงูในเบื้องต้น สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือ พยายามตรวจดูรอบบ้านอย่าให้มีรูหรือรอยแตก เป็นการป้องกันงูไม่ให้มุดเข้าไปอยู่ในบ้านได้
ที่สำคัญ อย่าให้รอบบ้านรกหรือมีขยะ เพราะจะเป็นที่อยู่ของหนู ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของงู