ช้าง60ตัว กระเจิง แจ้นเข้าป่าไปบอกต่อโขลง อันตรายอย่าเข้าใกล้บ้านที่มีรั้วรังผึ้ง

รั้วรังผึ้ง กรมอุทยานฯป้องกันช้างบุกบ้าน นักวิจัย ลุ้นระทึก ช้าง 60 ตัวออกจากป่าบุกบ้านชาวบ้านแก่งหางแมว แต่ต้องถอยกลับหมด เพราะโดนผึ้งไล่ เผย บ้าน 5 หลังเลี้ยงผึ้งรอบบ้าน 2 ปีมาแล้ว ช้างไม่กล้าเข้าใกล้เลย

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายจิระชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ได้นำต้นแบบการใช้ผึ้งมาป้องกันช้างป่าบุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมาจากประเทศเคนยา โดยเบื้องต้นนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ติดกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง และพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ช้างป่ามักจะออกจากป่ามาทำลายพื้ชผลของชาวบ้านเป็นประจำ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในกล่อง แล้วแขวนทำเป็นรั้วล้อมรอบพื้นที่นาข้าว ปรากฏว่าได้ผลค่อนข้างดีมาก เพราะช้างไม่เข้ามารบกวนทำลายพืชผลของชาวบ้านเลย

รั้วรังผึ้ง

นางรชยา อาคะจักร นักวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง หลักการของการเอาผึ้งไปป้องกันช้างป่าไม่ให้เข้ามาบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม และบ้านเรือน คือ ให้ช้างกับผึ้งกับผึ้งมาเจอกัน โดยผึ้งจะมีลักษณะพิเศษคือหวงรัง ใครมาทำอะไรให้รังกระทบกระเทือนจะต้องออกมาป้องกันรังสุดชีวิต ส่วนช้างจะเป็นสัตว์ที่ขี้กังวล และค่อนข้างกลัวแมลง ทั้งนี้จะมีจุดอ่อนที่ตัว 3 จุด คือ รอบดวงตา ปลายงวง และหลังใบหู วิธีการที่จะเอาผึ้งมาป้องกันไม่ให้ช้างเข้าใกล้บ้านเรือน หรือพื้นที่เกษตรกรรม คือ การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในกล่อง ทั้งนี้ผึ้งพันธุ์จะมีลักษณะพิเศษคือ แม้จะถูกรบกวนมากแค่ไหนผึ้งพันธุ์จะไม่ทิ้งรัง แต่ถ้าเป็นผึ้งหลวงหากถูกรบกวนมากๆก็จะทิ้งรังไปเลย อีกทั้งผึ้งพันธุ์ไม่ดุเกินไป แต่ดุในระดับที่สามารถควบคุมจัดการได้

“วิธีการคือ ยกกล่องรังผึ้งที่แขวนไว้กับรั้วสูงขึ้นจากพื้นดินในระดับสายตา เพื่อให้ช้างมองเห็นและรู้สึกเป็นกังวล แขวนกล่องห่างกันกล่องละ 3 เมตร เชื่อมต่อด้วยเชือก ทำให้เชือกแกว่งไปมาได้ เมื่อช้างใช้งวงกระแทก เพราะหลักการคือ เราต้องให้ช้างและผึ้งมาเจอกัน ซึ่งช้างแม้จะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ก็จริงแต่จะกลัวแมลงทุกชนิดโดยเฉพาะผึ้ง ทั้งนี้ผึ้งที่จะโกรธเมื่อช้างมาบุกรุกรัง และจะบินรบกวนรอบดวงตา ปลายงวง ซึ่งเป็นจุดอ่อนมากๆของช้าง ทำให้ช้างทั้งกลัว ทั้งรำคาญ และจะเดินหรีไปในที่สุด”นางรชยา กล่าว

นางรชยา กล่าวว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีความจำดีมาก ตัวไหนที่มีประสบการณ์ถูกผึ้งไล่ต่อยมาแล้วก็จะจำเอาไว้ และเมื่อกลับเข้าโขลงก็จะไป่ายทอดบอกต่อประสบการดังกล่าวให้กับช้างตัวอื่นๆรู้ว่าหากเจอกล่องอย่าไปเข้าใกล้ให้หลีกหนีให้ไกลห่าง วิธีการดังกล่าวนี้ใช้ได้ผลดีมาก แม้ว่า วัตถุประสงค์ที่ทางกรมอุทยานฯจะไปทำแตกต่างกัน คือ ที่ จ.เลยนั้น ทำเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเข้าไปทำลายพืชผลการเกษตร โดยเอารังผึ้งล้อมรอบแปลงนาเอาไว้ แต่สำหรับที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี นั้นไม่เฉพาะแค่ช้างเข้าไปกินพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบุรุกเข้าไปทำลายข้าวของที่บ้านเรือนประชาชนด้วย

 

รชยา อาคะจักร

“เราได้เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ล้อมรอบบ้านที่ อ.แก่งหางแมว บริเวณที่มีช้างออกมาบ่อยที่สุดโดยให้เจ้าของบ้าน ทำรั้วรังผึ้งห่างจากตัวบ้านประมาณ 3 เมตร เวลานี้มีทั้งหมด 5 หลัง ที่เราไปทำไว้ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่เคยถูกรบกวนจากโขลงช้างเลย หรือมา แต่ไม่สามารถเข้าไปถึงตัวบ้านได้ ล่าสุด มีช้างออกจากป่ามาไม่ต่ำกว่า 60 ตัว เข้าล้อมรอบบ้านหลังที่เราเลี้ยงผึ้งเอาไว้รอบบ้าน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่หลายคนอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ตัวดิฉันซึ่งทำเรื่องนี้เองแต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับช้าง 60 ตัวอยู่ตรงหน้าใจระทึกเหมือนกัน เกือบจะถ่ายภาพเก็บเอาไว้ไม่ได้ แต่เมื่อเขามาเจอกับรั้วผึ้งของเรา โดนผึ้งตอมหน้าตอมตา ตอมใบหู เขาก็ค่อยๆถอยหลังกลับไปในที่สุด”นางรชยา กล่าว

นักวิจัยเรื่องผึ้ง กรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ทีมงานที่ทำงานเรื่องนี้ได้พิสูจน์มาแล้วว่า ผึ้งสามารถป้องกันช้างไม่ให้เข้าใกล้บ้าน และแปลงพืชผลการเกษตรได้ หลักการนี้ช้างจะไม่ได้รับอันตราย ไม่มีการบาดเจ็บ และสิ่งที่จะได้ตามมาคือ ชาวบ้านหรือเกษตรกร จะได้ผลพลอยได้จากน้ำผึ้งที่เลี้ยงเอาไว้ด้วย โดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯแห่งชาติ สั่งให้รับซื้อน้ำผึ้งจากชาวบ้านและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ทุกคน และรับซื้อทั้งหมด ซึ่งรายได้จากการขายน้ำผึ้งก็นำไปเป็นสวัสดิการในกรมอุทยานต่อไป โดยน้ำผึ้งที่กรมอุทยานฯรับซื้อนั้นกิโลกรัมละ 200 บาท ภายใต้ยี่ห้อ รั้วรังผึ้งกรมอุทยานแห่งชาติ

น้ำผึ้งจากรั้วรังผึ้ง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์