เต่า 99.8% เป็นเพศเมีย เพราะ “โลกร้อน”!

งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ในวารสารวิชาการ เจอร์นัล เคอร์เรนต์ไบโอโลจี ระบุว่า เต่าตนุ หรือ เต่าทะเลสีเขียว (กรีน ซี เทอร์เทิล ชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonia mydas) ที่ขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดของเกาะไรน์ ใกล้ๆ กับเกรตแบริเออร์ รีฟ แนวปะการังเลื่องชื่อของโลกของประเทศออสเตรเลีย ฟักไข่ออกมาเป็นตัวเมียมากถึง 99.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะประชากรยุบตัวหรือสูญพันธุ์ เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิบริเวณชายหาดสูงกว่าปกติ

เมื่อเทียบกับเต่าชนิดเดียวกันที่ฟักออกจากไข่ในบริเวณหาดอื่นๆ ทางตอนใต้ลงมาจากชายหาดดังกล่าว ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า พบว่ามีสัดส่วนของเพศเมียเพียง 65 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

รายงานวิจัยดังกล่าวให้ข้อมูลไว้ว่า เต่าไม่มีพันธุกรรมที่ใช้สำหรับจำแนกเพศเหมือนในกรณีของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยในกรณีของเต่าทะเลนั้น การจำแนกเพศขึ้นอยู่กับอุณหภูมิแวดล้อมขณะฟักไข่เป็นสำคัญ ทั้งนี้ อุณหภูมิต่ำที่เย็นกว่าจะทำให้ไข่ฟักเป็นเพศผู้มากกว่า ในขณะที่อุณหภูมิสูงซึ่งทำให้อบอุ่นกว่านั้นจะส่งผลให้ไข่ฟักเป็นเพศเมียมากกว่า

ระดับอุณหภูมิเหมาะสมซึ่งจะทำให้ไข่เต่าฟักออกมาเป็นเพศผู้และเพศเมียพอๆ กัน 50/50 เปอร์เซ็นต์นั้นแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และความต่างทางพันธุกรรม รวมไปถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มเต่าแต่ละกลุ่มที่วางไข่ อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เต่าจะเลือกวางไข่ให้เหมาะสมกับการฟักเป็นตัวในช่วงที่ผืนทรายมีอุณหภูมิสูงหรืออุ่นกว่าอุณหภูมิเหมาะสมของมันเล็กน้อย ซึ่งส่งผลให้ประชากร

เต่าตัวเมียจะมีมากกว่าประชากรเต่าเพศผู้เล็กน้อยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่ออุณหภูมิในช่วงของการฟักเปลี่ยนแปลงไป เป็นสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นเพียง 2-3 องศา ก็จะส่งผลให้แทบจะไม่มีเต่าตัวผู้ในบรรดาเต่าที่ฟักออกมาจากไข่เลยแม้แต่ตัวเดียว

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เกาะไรน์ซึ่งเป็นพื้นที่วางไข่สำคัญของเต่าตนุในน่านน้ำออสเตรเลีย มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ มานับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แล้ว และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เต่าที่ฟักออกมาจากไข่มีแต่เพศเมีย

Advertisement

การตรวจสอบเพศเต่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะไม่สามารถใช้การตรวจสอบเชิงพันธุกรรมได้ เช่นเดียวกับที่เต่าไม่ได้มีอวัยวะแสดงเพศทางกายภาพ จะรู้ได้ก็เมื่อผ่าท้องออกดู ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ โชคดีที่ทีมวิจัยพบว่า หากนำพลาสม่าของเลือดเต่ามาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการได้ ก็สามารถตรวจหาระดับฮอร์โมนที่แตกต่างเพื่อใช้จำแนกเพศของลูกเต่าได้

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยอมรับว่า ยังไม่แน่ใจนักว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตเมื่อลูกเต่าที่ฟักออกจากไข่เกือบทั้งหมดเป็นเพศเมีย แต่โดยธรรมชาติแล้วเต่าเพศผู้ผสมพันธุ์บ่อยครั้งมากกว่าเพศเมีย ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครรู้เช่นกันว่า เต่าเพศผู้ที่เหลืออยู่จะสามารถทำหน้าที่ทดแทนเต่าตัวผู้อื่นๆ ที่หายไปได้หรือไม่

Advertisement

นอกเหนือจากนั้น นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ว่าเต่าตัวเมียอาจตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพื้นที่วางไข่ เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ทางใต้ลงมาที่อุณหภูมิเย็นกว่า

เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะประชากรยุบตัวจนสูญพันธุ์เพราะไม่มีตัวผู้นั่นเอง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์