เผยแพร่ |
---|
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าต้นน้ำ 13 จังหวัดภาคเหนือต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาวิกฤตอย่างหนัก ป่าไม้ถูกบุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพด บนพื้นที่กว่า 8.6 ล้านไร่ ล่าสุดถูกเสนอเข้าเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่หลายฝ่ายยังต้องร่วมกันหาทางออกรูปแบบ set zero ไปยัง “คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปเพื่อการพัฒนา” โดยให้พื้นที่ จ.น่านนำร่อง “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายลุยแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นรูปแบบโคก-หนอง-นาโมเดล โดยให้อุทยานศรีน่าน จ.น่าน เป็นพื้นที่ต้นแบบขยายผล
ผนึกร่วม 7 ภาคี 4 กระทรวง
ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีมติว่า การจัดการป่าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันหรือเขาหัวโล้นต้องใช้ 3 แนวทาง ควบคุมดูแลพื้นที่ ดูแลคน และพัฒนาเกษตร เน้นบูรณาการ 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ จึงให้อุทยานศรีน่านเป็นต้นแบบเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นครั้งแรกใน การอบรมสร้างการรับรู้ให้ชาวบ้านจับจอบสร้างระบบน้ำใช้รูปแบบโคกหนองนาโมเดล และห่มดิน ไม่มีการใช้สารเคมี จะเพิ่มผลผลิตได้ 3 เท่า ลดปลูกพืช เชิงเดี่ยวใช้ศาสตร์พระราชา โดยให้มีการกักเก็บน้ำจากการขุดร่องน้ำตามความลาดชัน ซึ่งได้รับความสนใจจากเครือข่ายเกษตรกรน่านเข้าร่วม 108 แปลง 15 อำเภอ และจะขยายผลไปยังแห่งอื่นต่อไป เช่น แม่แจ่ม
เพิ่มป่าต้นน้ำเป้า 1 หมื่นไร่
นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยราชการไม่ประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูพื้นที่และจัดสรรที่ดินยาก เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจ จึงจัดผังจัดการน้ำดิน ปลูกพืชผสมผสาน แบ่งส่วนให้ชาวบ้านอยู่ได้พอเพียง และทวงคืนพื้นที่ป่าไปพร้อมกัน ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มป่าต้นน้ำ จ.น่าน กว่า 1 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่คืนจากอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ถูกบุกรุก 1.2 หมื่นไร่ ให้คืนแล้ว 3 พันไร่ โดยมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ขณะที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ถูกบุกรุกกว่า 1 แสนไร่ ได้คืนมา 1 หมื่นไร่ จะเน้นปลูกป่าโดยน้อมนำโครงการพระราชดำริฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โครงการปิดทองหลังพระเข้ามาร่วมทำให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด
ปัจจุบันทวงคืนผืนป่า 2 แสนไร่ เมืองน่านกลับมาสมบูรณ์มากขึ้น ตอนนี้ป่าต้นน้ำเหลือร้อยละ 60 หายไปร้อยละ 40 นับจากนี้ต้องหยุดยั้งการปลูกข้าวโพดกว่า 4 แสนไร่ให้ได้ มีแผนร่วมกับกระทรวงเกษตรฯให้ปลูกพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 2 ล้านไร่
ขณะที่ นายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน บอกว่า การแก้ปัญหาบุกรุกป่าน่านแก้ไขยาก ส่วนหนึ่งเพราะชาวบ้านไม่เข้มแข็ง ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานทำให้ไม่มีแรงจูงใจ เมื่อชาวบ้านไม่มีโฉนดที่ดิน ต้องไปกู้เงินปลูกข้าวโพด แต่หลังปี 2557 รัฐบาล คสช.เข้ามาจัดระเบียบจึงค่อยมาคุยกันแก้ไขขอคืนพื้นที่ได้
“ตอนนี้ชาวบ้านเข้าใจจากการอบรมค่อย ๆ หาทางออกร่วมกับชาวบ้านแบบพี่น้อง แก้ทีละเปลาะระหว่างรอกฎหมายใหม่ที่จะออกมา ให้คนอาศัยในพื้นที่อุทยานง่ายขึ้น และ จ.น่านมีพื้นที่ 7 ล้านไร่ กว่า 6 ล้านไร่เป็นภูเขา แหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเหลือแค่ 72% ส่วนที่หายไป 28% เป็นภูเขาหัวโล้น จะให้คืน 100% ต้องใช้เวลา ฉะนั้นการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายการจัดสรรที่ดินทำกิน ให้เท่าเทียม และมีรายได้จากการปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวโพด”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์