ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่โรงแรมริชมอนด์ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างผัก10 ชนิด ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ ผลไม้ 6 ชนิด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวมทั้งผักผลไม้ทั้งหมด 158 ตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งที่มีฉลากรับรองมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ ฉลากออร์แกนิกส์ ฉลากมาตรฐานคิว จีเอพี (Q GAP) คิวจีเอ็มพี (Q GMP) และที่ไม่มีฉลากรับรองมาตรฐาน โดยเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 23-29 สิงหาคมที่ผ่านมา จากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลัก และเก็บจากตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 3 แห่ง ที่รังสิต จ.ปทุมธานี จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี จากนั้นก็นำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ประเทศอังกฤษ ผลการตรวจพบผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 โดยส่วนที่จำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 70.2 ส่วนตลาดค้าส่งมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 54.2
น.ส.ปรกชล กล่าวว่า ทั้งนี้ ผลการตรวจทั้งที่มีฉลากรับรองมาตรฐานและไม่มีฉลากรับรองก็พบว่าผักคะน้ามีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 10 จาก 11 ตัวอย่าง รองลงมาคือ พริกแดง พบ 9 จาก 12 ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว และกะเพรา พบ 8 จาก 12 ตัวอย่าง ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง กะหล่ำปลี และผักกาดขาวพบ 2 จาก 11 ตัวอย่าง ส่วนผลไม้ที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุดคือส้มสายน้ำผึ้งพบ 8 จาก 8 ตัวอย่าง แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง ฝรั่งพบ 6 จาก 7 ตัวอย่าง มะละกอพบ 3 จาก 6 ตัวอย่าง และแตงโมพบ 3 จาก 7 ตัวอย่าง แคนตาลูปพบ 1 จาก 7 ตัวอย่าง
“เดิมเราตรวจผัก ผลไม้ที่มีผลผลิตในช่วงหน้าแล้งก็พบว่ามีสารเคมีตกค้างจำนวนมาก ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข ทราบว่ามีการประชุมกันแต่ไม่ทราบว่ามีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แต่เมื่อเรามาตรวจซ้ำในผักผล ไม้ชนิดเดิมแต่เป็นผลผลิตในช่วงหน้าฝนก็พบว่ามีสารเคมีตกค้างเหมือนเดิม บางชนิดพบมากขึ้น ที่สำคัญมีการพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศไทยคือ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนคือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิลในผัก ผลไม้ 29 ตัวอย่างจากทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 18.4” น.ส.ปรกชล กล่าว และว่าจากนี้จะนำข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมวิชาการการเกษตร อย. และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินการต่อไป
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และโฆษก อย. กล่าวว่า อย. โดยด่านอาหารและยา มีการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อฟลาทอกซินเป็นสารปนเปื้อนที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 89 (พ.ศ.2529) และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนไว้ 20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม กรณีที่ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณเกินที่มาตรฐานกำหนดจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ประกอบกับอฟลาทอกซินเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ด้วย โดย อย.จะสั่งให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดและดำเนินการยึดหรืออายัดของที่เหลืออยู่ จากนั้นดำเนินคดีซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ สำหรับการนำเข้าอาหารที่เคยมีประวัติพบปัญหามาตรฐานในครั้งต่อไป ด่านอาหารและยาจะเข้าระบบกักกัน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ หากไม่พบปัญหาก็จะถอนอายัด หากยังพบปัญหาก็จะสั่งทำลาย ซึ่ง อย. ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดมาโดยตลอดจนกว่าผลการตรวจวิเคราะห์จะได้มาตรฐานตามข้อกำหนด 3 ครั้งติดต่อกันจึงจะผ่อนปรนเป็นการตรวจเฝ้าระวังตามปกติ
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการนำเข้าพริก หอม กระเทียม ยังเป็นภารกิจการตรวจสอบนำเข้าของ อย. ส่วนถั่วลิสงได้ถ่ายโอนภารกิจให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ตรวจสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2559 ทั้งนี้ สำนักด่านอาหารและยา จะมีหนังสือแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการสุ่มตัวอย่างเช่นเดียวกับที่ด่านอาหารและยาได้เคยปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ด่านอาหารและยาได้สุ่มเก็บตัวอย่างพริก หอม กระเทียม และถั่วลิสงที่นำเข้าตรวจวิเคราะห์อฟลาทอกซิน โดยในปีงบประมาณ 2558 เก็บตัวอย่าง 38 รายการ พบการปนเปื้อน 1 รายการ คิดเป็นร้อยละ 2.63 และในปีงบประมาณ 2559 เก็บตัวอย่าง 54 รายการ พบการปนเปื้อน 4 รายการ คิดเป็นร้อยละ 7.41 ซึ่งได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการทุกรายอย่างเข้มงวดแล้ว ทั้งนี้ หากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือไม่แน่ใจว่า อย.ถูกต้องหรือไม่ ให้โทรสอบถามได้ที่ โทร. 1556 หรือ e-mail: [email protected] หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application