ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 31 มกราคม ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในการบำรุงรักษาและพัฒนาคลองสายสำคัญในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหาร กทม.เข้าร่วม ว่า คณะกรรมการวิสามัญฯ ใช้เวลาศึกษา 180 วัน โดยได้กำหนดคลองสายสำคัญทั้งในฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี เพื่อนำร่องในการพัฒนาสาธารณูปโภคแบบบูรณาการ เน้นใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว
นางสุทธิมล เกษสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวว่า จากการผลศึกษาคลองในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 1,161 คลอง แต่คัดเลือกคลองที่มีศักยภาพในพื้นที่พระนคร ได้แก่ คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง ความยาว 3,450 เมตร (ม.) และฝั่งธนบุรี ได้แก่ คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองมอญ ความยาว 11,490 ม.
“เมื่อลงสำรวจพื้นที่พบอุปสรรคต่อการพัฒนาหลายด้าน ได้แก่ บ้านรุกล้ำริมคลอง สำนักงานเขตต้องช่วยผลักดันและแก้ไขปัญหา และบังคับใช้กฎหมายให้อพยพออกจากพื้นที่รุกล้ำ, การปรับภูมิทัศน์ต้องร่วมบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน, การปล่อยทิ้งน้ำเสียกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งภาคประชาชนต้องร่วมกันดูแลให้สะอาด
ขณะที่ภาครัฐต้องรวบรวมน้ำเสียสู่ระบบบำบัด และมาตรการจับปรับตามกฎหมาย, ผลักดันให้บ้านเรือนของชุมชนริมคลองโอ่งอ่างหันหน้ามายังคลองเพื่อความสวยงาม, สิ่งอำนวยความสะดวกแก่การท่องเที่ยว, ท่าเรือไม่เหมาะสมและท่าน้ำไม่เหมาะจัดกิจกรรม, ไม่มีห้องน้ำบริการนักท่องเที่ยว, ระบบสาธารณูปโภคกีดขวางทางเดินเรือ ต้องปรับรูปแบบหรือรื้อย้าย โดยต้องประสานกับการประปานครหลวง (กปน.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), เขื่อนริมคลองสูงบดบังทัศนียภาพ โป๊ะเรือออกแบบไม่เหมาะสม, ทางเดินริมคลองไม่เหมาะสม ต้องรื้อย้ายและปรับปรุง ส่วนปัญหาอื่น คือ การพัฒนาให้ชุมชนดูแลรักษาคลองให้ยั่งยืนและการบริหารจัดการประตูระบายน้ำให้เหมาะสม” นางสุทธิมล กล่าว
และล่าสุดได้กำหนดแผนและตั้งงบประมาณดำเนินการ 473 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นสมควรต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาการปรับปรุงเปิดปิดประตูระบายน้ำให้เหมาะสมกับการเดินเรือและระบายน้ำด้วย