เผยแพร่ |
---|
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ร่วมหารือแนวทางการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง เพื่อสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในด้านเมืองไทยน่าอยู่ ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการปลูกยาง เป้าหมาย 3 แสนไร่
โดยเตรียมเสนอ 2 ทางเลือกให้ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้สรุปว่าจะดำเนินการด้วยแนวทางไหน ในวันที่ 2 ก.พ. 2561
โดยแนวทางแรก คือ ชดเชยเงินให้ชาวสวนยางที่ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพรายละ 1.6 หมื่นบาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 10 ไร่ งบประมาณที่จะต้องจ่ายจะใช้ 4,874.2970 ล้านบาท
ส่วนแนวทางที่ 2 คือ ชดเชยเงินให้ชาวสวนยางที่ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพรายละ 1 หมื่นบาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 10 ไร่ งบประมาณที่จะต้องจ่ายจะใช้ 3,000 ล้านบาท
“หลังจากที่ชาวสวนสนใจเข้าร่วมโครงการกับ กยท.แล้ว กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ก็จะรับไม้ต่อส่งเสริมอาชีพ เพื่อเสริมรายได้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องไม่ซ้ำซ้อนกับ กลุ่มชาวสวนที่โค่นยาง ตามพ.ร.บ.กยท. ที่ได้รับ การชดเชยปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช ปุ๋ย ค่าแรง รวมระยะเวลา 7 ปี มูลค่า 16,000 บาท/ไร่”
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการเข้าพบของ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ได้หารือถึงการส่งออกไม้ยางพารา ที่ปัจจุบันตลาดต่างประเทศต้องการจำนวนมาก โดยเฉพาะเพื่อป้อนตลาดอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้นำเข้าไม้เริ่มนำกฎเกณฑ์มาตรฐานรับรองไม้ยางมาใช้ คาดว่าจะมีผลอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีข้างหน้า
ดังนั้น ส.อ.ท. จึงต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดรับรองมาตฐานไม้เศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในอนาคต
การรับรองมาตรฐานไม้เศรษฐกิจ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้าอยู่ 2 มาตรฐาน คือ FSC (Forest Stewardship Council) ที่การยางแห่งประเทศไทย (ก.ย.ท.) เป็นตัวแทนออกใบรับรอง และมาตรฐาน ในขณะที่ ส.อ.ท. พร้อมที่จะให้การรับรองมาตรฐาน PEFC ที่ส.อ.ท. เป็นตัวแทนรับรอง โดย ส.อ.ท. ระบุว่าการรับรอง มาตรฐาน PEFC นั้นดำเนินการได้รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายถูกกว่าถึง 80% เมื่อเทียบกับมาตรฐาน FSC ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยประสานกับเกษตรกรที่ต้องการโค่นไม้ยางและรับรองมาตรฐานดังกล่าว
นอกจากนี้ ส.อ.ท. แจ้งว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่พัฒนาเทคโนโลยีผลิต ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อใช้ปูพื้นสนามกีฬา สนามเด็กเล่น ลานเอนกประสงค์ และอื่นๆ ได้อย่างหลายรูปแบบ แต่การนำเอาไปใช้ยังมีน้อย จึงต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ ประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ให้บรรจุการเงื่อนไขใช้ผลิตภัณฑ์ยางของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ดังกล่าวในโครงการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศด้วย ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอผ่านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์