อาเซียน-ญี่ปุ่นเปิดเสรีค้าปลายปีดันมูลค่าไทย-ยุ่นแตะแสนล.ดอลล์กรุยทางเอกชนลงทุนบริการ 100%

ก.พาณิชย์เผยอาเซียน-ญี่ปุ่นลงนามเปิดเสรีการค้า ส.ค. ก่อนมีผลบังคับใช้ปลายปี หนุนผู้ประกอบการลงทุนสาขาบริการในญี่ปุ่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เชื่อญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานลงทุนขยายตลาดเพื่อนบ้าน-เอเชียใต้ คาดภายใน 10 ปี การค้าไทย-ญี่ปุ่นมีมูลค่าถึงแสนล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนาเรื่องไทย-ญี่ปุ่น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญและลำดับต้นๆ ของไทย ซึ่งได้เปิดเสรีทางการค้าและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันหลายระดับ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) หรือเอเจเซ็ป และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือเจเทปปา ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2561 ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการลงนามเปิดเสรีการค้าบริการ เคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนภายใต้ AJCEP ซึ่งจะมีผลใช้บังคับปลายปีนี้ จากก่อนหน้านี้ได้ทยอยลดภาษีสินค้าระหว่างกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2552 เมื่อความตกลงรอบนี้มีผล คาดว่าภายใน 10 ปี การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น 25-30% หรือมีมูลค่าเพิ่มเป็นแสนล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ 54,346 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ตามกรอบ AJCEP ที่เปิดภาคบริการและลงทุน จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในสาขาบริการต่างๆ ที่ไทยมีศักยภาพในญี่ปุ่นได้ 100% เช่น การโฆษณา บริการทัวร์ จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ โรงแรม สปา อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร การวิจัยและการพัฒนา การซ่อมแซมและบำรุงรักษาอากาศยาน และจัดจำหน่าย เป็นต้น ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นและอาเซียนเข้ามาประกอบธุรกิจสาขาบริการได้ในไทย เช่น บริการธุรกิจ  โทรคมนาคม การเงิน อสังหาริมทรัพย์ โดยสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ 49% หรือ 70% ตามประเภทของธุรกิจ ด้านการลงทุนจะคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน และสามารถโอนเงินเข้า-ออกจากประเทศได้อย่างเสรี นับเป็นการขยายการค้าและกระชับความร่วมมือแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (สตราเตจิก พาร์ทเนอร์ชิฟ) ที่มีสัญญารองรับเพิ่มมากขึ้น

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ส่วน JTEPA จะมีการหยิบยกขึ้นมาทบทวนใหม่อีกครั้ง ทั้งเกี่ยวกับการค้า บริการ และลงทุน โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจา เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น หลังจากมีผลบังคับใช้มา 10 ปีแล้ว ซึ่งช่วยให้การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2550 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 48,166 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2559 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51,272 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.5% ในมูลค่าดังกล่าวใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ JTEPA มูลค่า 6,152 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 81.5%

นายวิทวัส ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า โอกาสทางธุรกิจบริการและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยภายใต้ AJCEP เชื่อว่าจะทำให้ญี่ปุ่นยังคงใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนต่อเนื่อง และใช้ไทยเป็นฐานขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงเอเชียใต้อย่างอินเดีย และคาดว่าอาจจะมีนักลงทุนต่างชาติรวมถึงญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน