เผยแพร่ |
---|
ภายใต้แผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่รัฐบาลกำหนดกรอบลงทุนขั้นต่ำ 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี
(2560-2564) นั้น ไม่ได้มีเพียงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาคเอกชน หรือแผนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น
แต่ยังมีแผนการพัฒนาการเกษตรโดยเฉพาะการปลูก การตลาดของผลไม้ในพื้นที่ด้วย ภายใต้ชื่อ อีสเทิร์น ฟรุต คอร์ริดอร์ หรืออีเอฟซี เพื่อยกระดับผลไม้ไทยของภาคตะวันออกและภาคกลางบางส่วน รวม 8 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก มุ่งสู่มหานครผลไม้ของไทย ภายในปี 2564
โครงการอีเอฟซี มีเจ้าโปรเจ็กต์คือกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ร่วมระดมสมองกับเอกชนอย่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาเกษตรกร ที่ต้องการขยายผลของโครงการอีอีซีไปสู่ภาคเกษตร ซึ่งภาคตะวันออกมีจุดเด่นที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ ผลไม้คุณภาพ การสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดผลไม้ ยกระดับราคา ผลักดันอีเอฟซีเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้เกษตรกรไทยในภาคตะวันออกได้ประโยชน์ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาล
อุตตมเล่าที่มาว่า
อีเอฟซี เป็นโครงการที่กระทรวงได้หารือร่วมกับภาคเอกชน อาทิ หอการค้า และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง จนตกผลึก โดยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ ให้พิจารณากรอบแนวทางการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรืออีเอฟซี เพื่อเป็นตลาดกลางทำการค้าผลไม้ของภาคตะวันออกทั้งหมด สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลในการจัดตั้งอีอีซี ที่จะมีการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การค้า บริการ การท่องเที่ยว และการเกษตรครั้งสำคัญของประเทศ โดยตลาดดังกล่าวกำหนดพื้นที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และจะมีการสร้างห้องเย็นโดยจะใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยกำลังดูว่าจะใช้พื้นที่ ปตท.ก่อสร้าง หรือพื้นที่อื่นที่เหมาะสม ส่วน ปตท.จะลงทุนเองหรือเอกชนรายอื่นสนใจก็จะมีการหารืออีกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อ ครม.สัญจรเห็นชอบตามกรอบที่เสนอ จะตั้งทีมศึกษาความเป็นไปได้โครงการ 3-4 เดือน มั่นใจว่าจะได้เห็นการลงทุนในปีนี้แน่นอน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอธิบายเพิ่มเติมว่า รูปแบบการลงทุนอีเอฟซีจะมีการจัดตั้งบริษัทประชารัฐขึ้นมารองรับ โดยเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อลงทุนตลาดกลางและห้องเย็นในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มูลค่าลงทุนจะมีการประเมินอีกครั้ง แต่จะรองรับผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอื่นที่ส่งเข้ามาวางจำหน่ายได้อย่างน้อย 3,000 ตันต่อวัน ซึ่งรูปแบบธุรกิจจะมีสินค้าของเกษตรกรโดยตรง หรืออาจจำหน่ายในนามสหกรณ์การเกษตร ผู้ค้าส่งผลไม้ ตลอดจนล้ง มาร่วมเลือกซื้อสินค้า และเมื่อตกลงซื้อจะนำผลไม้จากห้องเย็นมาจัดส่งทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศผ่านสนามบินอู่ตะเภา จากปัจจุบันขนส่งผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ โดยผลไม้สำคัญ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย มะม่วง สับปะรด ซึ่งรูปแบบนี้จะเป็นการลงทุนระยะแรก ในระยะต่อไปจะทำรูปแบบประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์คล้ายตลาดปลาของประเทศญี่ปุ่นคือ นำสินค้าตัวอย่างมาโชว์ เมื่อประมูลได้ผู้ชนะก็จะไปเคลื่อนย้ายผลไม้จากห้องเย็นจัดส่งปลายทาง ทั้งในประเทศ และการส่งออกผ่านสนามบินอู่ตะเภา นอกจากนี้ ในการลงทุนจะมีหน่วยงานด้านการศึกษามาร่วมด้วย เพื่อพัฒนาการแปรรูปผลไม้เพื่อการส่งออก
“ห้องเย็นมีความสำคัญและจำเป็นมาก ซึ่งตอนนี้ในภาคตะวันออกไม่เพียงพอ ดังนั้น การพัฒนาโครงการโดยรัฐและเอกชนในรูปของประชารัฐจะตอบโจทย์มากที่สุด โดยความเย็นที่พอเหมาะและมากพอจะใช้แอลเอ็นจีจาก ปตท. ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับ ปตท.เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน ปตท.นำแอลเอ็นจีที่เหลือใช้มาปลูกดอกไม้เมืองหนาวและเปิดให้ประชาชนท่องเที่ยว ดังนั้น ห้องเย็นจะร่วมใช้ประโยชน์จากแอลเอ็นจีนี้ ซึ่งประโยชน์จากตลาดกลางและห้องเย็นยังมีความเป็นไปได้ที่จะนำผลไม้จากภาคอื่น อาทิ ภาคใต้ ที่มีผลไม้หลายชนิดที่โดดเด่น โดยนำผลไม้ส่งมาทางเรือขึ้นท่าเรือแหลมฉบังและเข้าสู่ตลาดกลางเพื่อจำหน่ายผ่านระบบประมูลด้วย ทั้งนี้ ห้องเย็นไม่เพียงดูแลรักษาผลไม้สด แต่ยังจะใช้เก็บรักษาผลไม้ที่ไม่ได้คุณภาพเพื่อให้เอกชนอุตสาหกรรมแปรรูปนำไปใช้ผลิตผลไม้แปรรูป ตลอดจนวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับอาหารด้วย” อุตตมทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษากรอบแนวทาง ตามโครงการการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรืออีเอฟซีของรัฐระบุว่า หากดำเนินการตามแผนภายใต้บริษัทประชารัฐรักสามัคคี จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลางได้มากถึง 1.65 แสนราย เพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่า 2-3 เท่า ทำให้ผลไม้มีอายุยืนยาวขึ้น ลดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลนหรือล้นตลาด ลดปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สนับสนุนโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร 144 โรงงานให้มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลไม้ที่ตกเกรด สร้างนักธุรกิจในห่วงโซ่เกษตรเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าส่งออกเฉพาะผลไม้จากภาคตะวันออกได้สูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท และดันไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง 1,500 ไร่ วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เจ้าของพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า กนอ.ใช้งบก่อสร้างนิคมฯสมาร์ทปาร์คจำนวน 2,000 ล้านบาท ได้มีการออกแบบพื้นที่โครงการไว้และจัดสรรสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ออกเป็น 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 723.78 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 393.50 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 236.51 ไร่ และพื้นที่พาณิชยกรรม 147.18 ไร่ จำนวนนี้จะมีตลาดกลางผลไม้ประมาณ 50 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 80 ล้านบาทรวมอยู่ด้วย โดยขณะนี้นิคมฯอยู่ระหว่างการออกแบบ การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่ง กนอ.คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียนและประเทศไทยที่ขับเคลื่อนทุกขั้นตอนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ
ผู้ว่าการ กนอ.แสดงความมั่นใจว่าทำเลการตั้งตลาดกลางผลไม้เหมาะสมที่สุด เพราะนิคมฯสมาร์ทปาร์คจะมีจุดเด่นคือขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งตลาดกลางแห่งนี้จะใช้ระบบประมูลในการซื้อสินค้าเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุนดำเนินการ และจะทำให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในภาคตะวันออก