มกอช. ติวผู้ส่งออก “ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด” รู้ทันกฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ อียู หวังชิงส่วนแบ่งตลาด

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า แนวโน้วการส่งออกจิ้งหรีดไปสหภาพยุโรป หรืออียู (อียู) กำลังสดใส มีผู้นำเข้าจิ้งหรีดจากไทย ทั้งในรูปจิ้งหรีดแช่แข็ง ต้มบรรจุกระป๋อง และจิ้งหรีดอบและบดเป็นโปรตีนผงเพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหาร เป็นต้น แต่เนื่องจากการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่หรือโนเวลฟู้ด (Novel Food) ของ อียู ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561

ทั้งนี้ กฎระเบียบโนเวลฟู้ด ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยสินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการ รวมทั้งจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ต้องดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนตามข้อกำหนดภายใต้กฎหมาย สถานะอาหารใหม่ (Novel Food) พร้อมทั้งจัดทำเอกสารข้อมูลทางวิชาการประกอบการยื่นขอ (Scientific Dossier) โดยสามารถยื่นคำขอในสถานะอาหารที่มีการบริโภคมานาน (Traditional Food) หรือสถานะอาหารใหม่ (Novel Food) เพื่อให้สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) พิจารณาความปลอดภัยหรือหลักฐานการบริโภคก่อนอนุญาตเปิดตลาดนำเข้าอย่างเป็นทางการ

ดังนั้น มกอช. จึงเร่งประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU Delegation) จัดสัมมนาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Workshop on EU Novel Food Regulation – Case of Insects (Crickets) หรือระเบียบอาหารใหม่ของสหภาพยุโรป กรณีศึกษาเปิดตลาดผลิตภัณฑ์แมลง (จิ้งหรีด) โดยเชิญอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านอาหารและสุขภาพ ของ EU Delegation และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน EFSA มาชี้แจงรายละเอียดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย โนเวลฟู้ด รวมทั้งกรณีศึกษาจิ้งหรีดในสถานะอาหารใหม่ การประเมินความเสี่ยงของสินค้าและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดเพื่อใช้เป็นอาหาร และแนวทางการจัดทำข้อมูลประกอบการยื่นคำขอรับรองสถานะอาหารใหม่ ตลอดจนการยื่นขอเปิดตลาด ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกของไทย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 150 คน ได้รับทราบและเข้าใจแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจนมากขึ้น

นายพิศาล กล่าวว่า แมลงหลายชนิดรวมทั้งจิ้งหรีดถือเป็นความหวังสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารมนุษย์และสัตว์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ ปริมาณแลกเนื้อสูง ต้องการอาหารและน้ำในปริมาณที่น้อย ทำให้สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตอื่นๆ ได้

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ประกาศมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง กว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 700 ตัน/ปี ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ มูลค่าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์