กรมชลฯเผยแนวทางปรับพื้นที่แก้น้ำท่วม-แล้ง มองยาว รับ’อีอีซี’

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจร “โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง คลองท่าลาด คลองหลวง จ.ชลบุรี” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ โดยมีนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวต้อนรับ และบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการ

นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ครม.สัญจร รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาพูดคุยและถามว่า กระทรวงเกษตรฯมีการเก็บข้อมูลย้อนหลังทุกๆ 10 ปี สามารถนำข้อมูลมาปรับใช้ในการหาแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำได้หรือไม่ ซึ่งที่นี่โชคดีมาก เพราะเวลามีการพูดคุยเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ซึ่งเคยมาดูงานที่ จ.ระยอง มีการวางโครงการให้กับภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร โดยให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หากมองในอีกมุมหนึ่ง ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ระบบน้ำมีความสำคัญอย่างมาก คงไม่อยากเห็นภาพการประปาติดขัดหรือต้องหยุดใช้ไปในวันนั้นๆ เพราะคงเป็นภาพที่ดูไม่ดี และจะนำไปสู่การบอกต่อได้

ทั้งนี้ ในการพัฒนาก็ต้องศึกษาของเก่าก่อนพัฒนาของใหม่ว่ามีอะไรแล้วบ้าง ต้องเพิ่มเติมอะไร ส่วนในระหว่างทาง เรามีการพัฒนาช่องทางระบายน้ำแก้มลิง ซึ่งประสิทธิภาพลดลงไปมาก โดยในขณะนี้ทางกรมชลประทาน และท่าน รมช.กระทรวงเกษตรฯกำลังหาโครงการมาปรับใช้ ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่า คือ “โคก หนองนา” โมเดล ทำเป็นรูปแบบขนมครก ในขณะนี้ได้มอบหมายให้มาเขียนแผน ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับที่จะนำมาปรับใช้ที่นี่ และทางกรมชลประทานหวังว่าสื่อมวลชนจะเป็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

โดยกรมชลประทานได้มีโครงการศึกษาการปรับปรุงระบบชลประทานในลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง-ที่ราบฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง เพื่อพัฒนาพื้นที่ ในการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองสียัด คลองระบม และคลองหลวง มีความจุรวม 575 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาพื้นที่ชลประทานกว่า 4 แสนไร่ จากการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทำให้มีความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำเหล่านี้ยังเผชิญปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง กรมชลประทานจึงพิจารณาก่อสร้างปรับปรุงแหล่งน้ำ และอาคารชลประทานที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และเตรียมการรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาล

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน

สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนประโยชน์การใช้ที่ดินมากขึ้น จากทุ่งนากลายเป็นชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และบ่อเลี้ยงปลา ทำให้ลดพื้นที่รองรับน้ำ รวมทั้งอาคารชลประทานเดิมมีข้อจำกัด และลำน้ำเดิมตื้นเขินคับแคบ เมื่อน้ำหลากมาจึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเสียหาย

จากแนวทางในการศึกษา ส่วนหนึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำ เช่น เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองหลวงจาก 98 ล้านลูกบาศก์เมตร อีก 27 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่งในลุ่มน้ำคลองท่าลาด ความจุรวมประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดปริมาณน้ำหลาก

ขณะเดียวกัน ยังต้องก่อสร้างและปรับปรุงอาคารชลประทาน ปรับปรุงลำน้ำให้กว้างขึ้น รองรับอัตราการไหลของน้ำได้มากขึ้น ปรับปรุงคลองส่งน้ำหรือท่อลอด ที่เป็นปัญหาต่อการไหลของน้ำหลากจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกก่อนลงแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสำคัญบางสาย เพื่อช่วยหน่วงน้ำและจัดจราจรทางน้ำบริเวณจุดรวมน้ำที่สำคัญคือแยกคลอง 5 สายที่บริเวณอำเภอพานทองให้ดีขึ้น

อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นายเฉลิมเกียรติกล่าวเสริมว่า ด้านการรองรับความต้องการใช้น้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในระยะ 20 ปีข้างหน้า มีการวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว มาลงอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ปีละประมาณ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในพื้นที่ และผันต่อไปยังสถานีสูบน้ำพานทอง ก่อนเข้าเส้นท่อเดิมจากคลองพระองค์ไชยานุชิตไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ

“อ่างฯคลองสียัด ออกแบบให้มีความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยซึ่งมีปริมาณปีละ 285 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำจึงไม่เต็มอ่าง เป็นที่มาของแนวคิดผันน้ำส่วนเกินของอ่างฯ คลองพระสะทึง จ.สระแก้ว เนื่องจากน้ำล้นอ่างฯทุกปี มาเติม” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ใน จ.ชลบุรี ที่ได้รับผลกระทบ กรมชลประทานจึงต้องมีการศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัย การประปาในแต่ละภูมิภาค การเกษตร ที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงมีการกำหนดกรอบแนวทางขึ้นมาเบื้องต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วย ที่ทางกรมชลประทานให้ความสำคัญ

ด้าน นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองหลวง กล่าวว่า หลังจากที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานมากกว่า 126,000 ไร่ ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศ ตลอดจนป้องกันอุทกภัยในเขต อ.พานทอง และในปัจจุบันยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกสถานที่หนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และจัดให้มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อรับทราบปัญหา และร่วมหาแนวทางการแก้ไข ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า มีสื่อให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และซักถามข้อสงสัยเป็นจำนวนมาก

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์