แม่เหล็กโลก ‘กลับขั้ว’ ยังไม่ใช่ ‘หายนะโลก’

การกลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลกถูกนำมาเชื่อมโยงกับ “วันสิ้นโลก” โดยการนำเสนอ “ผลกระทบ” จากปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า จะก่อให้เกิดภาวะ “มืดมนอนธการ” กว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นผิวโลก รุนแรงถึงขนาด “แม้แต่จะชักโครกยังทำไม่ได้” เหมือนปกติที่เคยทำมา

เว็บไซต์ “อันดาร์ก” อ้างโดยไม่ได้อ้างคำพูดโดยตรง เพียงแค่ระบุว่า แดเนียล เบเกอร์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการฟิสิกส์อวกาศและบรรยากาศ ประจำมหาวิทยาลัยแห่งโคโลราโด โบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา เคยเสนอเอาไว้ว่า การกลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลกอาจทำให้หลายส่วนของโลกใบนี้ใช้อยู่อาศัยกันไม่ได้

เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สนามพลังแม่เหล็กโลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สามารถกลับขั้วได้หรือไม่ และผลลัพธ์ของการกลับขั้วดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด

สนามแม่เหล็กโลกเกิดขึ้นจากแร่เหล็กหลอมละลายอยู่ภายใต้เปลือกโลกตรงส่วนที่เป็นแก่น (core) ชั้นนอก (outer core) ซึ่งอยู่ถัดจากเปลือกโลกชั้นแมนเทิลเข้าไป ทะเลเหล็กหลอมละลายดังกล่าวไหลวนไปมาอยู่โดยรอบแก่นชั้นนอก (เหมือนเครื่องดื่มที่ถูกคน) การหมุนวนอยู่ตลอดเวลาดังกล่าวก่อให้เกิดสนามพลังแม่เหล็กขนาดยักษ์ครอบคลุมโลกเอาไว้ สนามพลังแม่เหล็กดังกล่าวนี้ทำมุมเอียง 11 องศากับแกนโลก ที่เป็นแกนซึ่งโลกหมุนรอบตัวเอง ดังนั้น ขั้วแม่เหล็กโลกจึงไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ตามลักษณะภูมิศาสตร์แต่อย่างใด

เหล็กที่หลอมละลายซึ่งเคลื่อนไหววนอยู่ตลอดเวลาดังกล่าวนั้น บางส่วนสามารถหมุนสลับทิศทางกับการไหลเวียนของอะตอมเหล็กที่อยู่โดยรอบได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่าภาวะ “รีเวิร์ส-อัลลายด์” ภาวะรีเวิร์ส-อัลลายด์ดังกล่าวนี้ หากเกิดสะสมมากขึ้นถึงระดับหนึ่งก็อาจมากพอที่จะทำให้เกิดการพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลก ขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกแต่เดิมจะกลายเป็นขั้วใต้ ในขณะที่ขั้วใต้ก็จะกลายเป็นขั้วเหนือ

แต่การกลับขั้วดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่จะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาในการกลับขั้วแต่ละครั้งประมาณ 1,000-10,000 ปี

โมนิกา คอร์ต ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ประจำหอสังเกตการณ์ นีเม็กค์ จีโอแม็กเนติก ในสังกัดศูนย์วิจัย จีเอฟแซด พอทสดัม ในประเทศเยอรมนี ระบุว่าในช่วงเวลาระหว่างการกลับขั้วอย่างช้าๆ ดังกล่าวนั้น พลังของสนามแม่เหล็กโลกจะอ่อนลง และมีความเป็นไปได้มากว่าจะมีบางช่วงที่สนามแม่เหล็กโลกจะมีขั้วมากกว่า 2 ขั้วอยู่ชั่วขณะ จากนั้นก็จะค่อยๆ ทวีพลังมากขึ้นและรวมตัวกันเข้าเป็นแนวเดียวกันอีกครั้ง

Advertisement

ตลอดประวัติศาสตร์ของโลก เกิดการกลับขั้วไปมาเช่นนี้ขึ้นมาแล้วหลายร้อยครั้ง ครั้งหลังสุดที่เคยเกิดการกลับขั้วก็คือเมื่อประมาณ 780,000 ปีก่อน และตอนนี้นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสัญญาณส่อให้เห็นว่าสนามแม่เหล็กโลกกำลังกลับขั้วอยู่เช่นกัน

นั่นหมายความว่า ถ้าหากเกิดการกลับขั้วสนามแม่เหล็กโลกขึ้นจริง โลกก็ต้องสังเกตพบได้ และนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้เป็นกังวลกับเรื่องการกลับขั้วที่ว่านี้แต่อย่างใด

Advertisement

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากการกลับขั้วเสร็จสมบูรณ์ แต่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะเกิดการกลับขั้วสมบูรณ์ ซึ่งสนามแม่เหล็กโลกจะอ่อนจางมากที่สุด ทำให้พลังที่เป็นเหมือนเกราะคุ้มกันโลกจากอนุภาคที่มีประจุซึ่งพุ่งทะลุทะลวงผ่านห้วงอวกาศอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่สามารถทะลวงสู่พื้นผิวโลกได้เพราะสนามแม่เหล็กโลกก็จะหมดสิ้นไป ภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิด “รูรั่ว” ในชั้นบรรยากาศในส่วนที่ไม่มี หรือมีสนามพลังแม่เหล็กคุ้มครองอยู่น้อย ทำนองเดียวกับรูรั่วของโอโซนในชั้นบรรยากาศ

อนุภาคของรังสีที่ส่งผลกระทบมาถึงพื้นโลกมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่ออะไรมากมายแค่ไหนยังจำต้องถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มันจะ “รบกวน” การทำงานของระบบนำร่องดาวเทียมและเครื่องบิน เช่นเดียวกันกับระบบโครงข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้า

แต่ไม่ใช่ว่าป้องกันไม่ได้ ป้องกันได้เพียงแต่ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายสูงขึ้นเท่านั้นเอง ตามความเห็นของฟิลล์ ลิเวอร์มอร์ และจอน มาวด์ สองนักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ

ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนก็คือ บางพื้นที่ของโลกในเวลานี้กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะอ่อนแรงของสนามแม่เหล็กโลกอยู่ในเวลานี้ ข้อมูลของนักธรณีฟิสิกส์อย่างจอห์น ทาร์ ดูโน และวินเซนต์ แฮร์ จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ระบุว่าในช่วง 160 ปีที่ผ่านมาพลังสนามแม่เหล็กโลกอ่อนลงเร็วมาก บางส่วนหลงเหลืออยู่น้อยแล้ว คือ ส่วนที่อยู่บริเวณซีกโลกใต้ ตั้งแต่ประเทศซิมบับเวเรื่อยไปจนถึงประเทศชิลี

สนามแม่เหล็กโลกตรงนั้นอ่อนจางมากจนเป็นอันตรายต่อดาวเทียมที่โคจรผ่าน เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกรบกวน

แต่ก็แค่นั้นเอง ไม่ได้เกิดหายนะระดับวันสิ้นสุดของอารยธรรมมนุษย์แต่อย่างใด