กบง. คาดปีนี้ไฟพีก 3.1 หมื่นเมกฯ คุมอาคาร 9 ประเภทอนุรักษ์พลังงาน เอาจริงถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่อนุมัติก่อสร้าง

กบง.คาดปีนี้ใช้ไฟสูงสุดที่ 3.1 หมื่นเมกะวัตต์ เผยกำลังปรับแผนพีดีพีให้สอดรับเทคโนโลยีนโยบายรัฐ เตรียมบังคับอาคาร 9 ประเภทออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงาน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่าคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปี 2561 น่าจะอยู่ที่ 30,900-31,000 เมกะวัตต์ เติบโตจากปีที่ผ่านมา 1% ซึ่งทาง สนพ.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปทั้งการผลิตไฟฟ้าใช้เองของประชาชน รวมถึงสภาพอากาศที่ยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2558-2579 (พีดีพี 2015) โดยในปี 2560 มีการผลิตไฟฟ้ารวม 1.97 แสนล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 0.8% จากปี 2559 แต่ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในระบบของ 3 การไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 30,373 เมกะวัตต์ ลดลง 2.2% ขณะที่สัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงกว่า 60% สูงกว่าแผนพีดีพีที่กำหนดว่าปี 2560 สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติต้องอยู่ที่ 59% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2560 มีสัดส่วน 7% น้อยกว่าเป้าหมาย 10%

“การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมรวมกันมากกว่า 3,400 เมกะวัตต์ แต่การผลิตจริงไม่สามารถทำได้เต็มศักยภาพ จึงอยู่ระหว่างการปรับแผนพีดีพี 2015 ใหม่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนโยบายของรัฐบาล” นายทวารัฐกล่าว

นายทวารัฐกล่าวว่า นอกจากนี้ กบง.ยังเห็นชอบการออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ…. ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอ เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูงก่อนและจะทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภทภายใน 3 ปี โดยจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 7 มีนาคม จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปเพื่อประกาศใช้ภายใน 120 วัน หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะไม่อนุมัติให้ก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยอาคาร 9 ประเภทประกอบด้วย สำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์การค้า โรงมหรสพ สถานบริการ อาคารชุมนุมคน อาคารชุด และสถานศึกษา ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบตามเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุในเรื่องระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยปีแรกบังคับใช้กับอาคารขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ปีที่ 2 บังคับใช้กับอาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และปีที่ 3 บังคับใช้กับอาคารขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งจะทำให้อาคารก่อสร้างใหม่ประหยัดพลังงานได้มากกว่า 10% ภายใน 20 ปีประหยัดไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย มูลค่ารวม 48,000 ล้านบาท

นายทวารัฐกล่าวว่า กบง.ยังเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอว่าไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ กกพ. กำกับดูแลเรื่องค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันการควบคุมอัตราค่าบริการมีความเหมาะสม และมีการแข่งขันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ประกอบกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า 2560 สามารถกำกับการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อยู่แล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561