เผยแพร่ |
---|
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทยในช่วงให้ฤดูปลาที่มีไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แต่ทั้งนี้ เพื่อให้การปิดอ่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2561 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวใหม่ จากเดิมที่จะประกาศห้ามใช้เครื่องมือบางชนิดในพื้นที่โดยรวมของ 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งพบว่าการดำเนินการไม่ได้ผล ปริมาณสัตว์น้ำที่วัดจากปลาผิวน้ำ โดยเฉพาะปลาทู มีปริมาณน้อยมาก
ปี 2560 ได้เริ่มทดลองเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวใหม่ให้สอดคล้องกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมง ได้แบ่งปิดอ่าวออกเป็น 4 ช่วงตามแหล่งอาศัยของช่วงวัยของปลา พบว่าประสบผลสำเร็จปลาทูมีปริมาณเพิ่มขึ้น ดังนั้นในปี 2561 นี้ จึงประกาศการปิดอ่าวในรูปแบบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ คือ เขตที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่เขาตามอง ตั้งแต่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึง อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. รวม 90 วัน ซึ่งเป็นช่วงการวางไข่ เขตที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่จากเขาตามองจนถึง อ.หัวหิน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. รวม 30 วัน หรือเป็นช่วงตัวอ่อน เขตพื้นที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่อ่าวตัว ก จาก อ. หัวหิน-จ สมุทรสาคร ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. รวม 60 วัน เป็นช่วงของการเติบโต และ เขตพื้นที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ถึง อ. ศรีราชา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. เป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์
“ในช่วงการปิดอ่าวแต่ะละพื้นที่จะใช้เครื่องมือจับปลาได้เฉพาะเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร และทำการประมงในเวลากลางคืนทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และมีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้ว ยกเว้นที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ที่ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งเครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ลอบปู ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯ ลอบหมึกทุกชนิด ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯ ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่งคราดหอย ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯอวนรุนเคย ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯ และจั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง เท่านั้น”
นายอดิศร กล่าวว่า กรณีฝ่าฝืน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ จะได้รับโทษตามมาตราการปกครอง ได้เแก่ 1. ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงนั้น หรือเครื่องมือทำการประมง 2. ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง 3. สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยสั่งห้ามไม่ให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาในการพักใช้ใบอนุญาต 4. เพิกถอนใบอนุญาตและประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 5. กักเรือประมงหรือสั่งให้วางประกัน ในกรณีเรือประมงที่กระทำความผิดเป็นเรือประมงที่ไม่ใช่เรือประมงไทย
นอกจากนี้ ยังมีโทษปรับ ตามมาตราการ 138 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 70 ของ พ.ร.ก.ประมง คือ 1.ขนาดเรือน้อยกว่า 10 ตันกรอส ระวางโทษ 5,000-50,000 บาท 2. ตั้งแต่ 10 ตันกรอสแต่ไม่ถึง 20 ตันกรอส ระวางโทษ 50,000-100,000 บาท 3. ตั้งแต่ 20 ตันกรอส 60 ตันกรอส ระวางโทษ 100,000-500,000 บาท 4. ตั้งแต่ 60 ตันกรอส ไม่ถึง 150 ตันกรอส ระวางโทษ 500,000 บาท – 5 ล้านบาท และ 5. ตั้งแต่ 150 ตันกรอสขึ้นไป ระวางโทษ 5-30 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการทดลองเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวในปี 2560 เปรียบเทียบจากก่อนการประกาศมาตรการปิดอ่าวสามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 2,470,601 ก.ก. และหลังจากมาตรการประกาศปิดอ่าวบริเวณอ่าวไทยสามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 28,669,171 ก.ก. บริเวณอ่าวตัว ก. จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 30,183,581 ก.ก. แสดงให้เห็นว่าหลังมาตรการปิดอ่าวไทยจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยปลาทู จากช่วงเดือน ม.ค. 2560 ไม่สามารถจับได้เลย แต่เดือนก.พ.-พ.ค เพิ่มเป็น 9,480 ก.ก. ช่วงเดือนมิ.ย.-ธ.ค. จับได้ 265,164 ก.ก.
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ปิดอ่าวชาวประมงรายย่อยต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงใหม่ตามประกาศ เพราะโทษของการฝ่าฝืนกำหนดไว้รุนแรงเกินไป ในขณะที่ต้องขาดรายได้เพราะการจับสัตว์น้ำที่ลดลง ดังนั้นภาครัฐควรให้การชดเชยรายได้ดังกล่าวให้กับชาวประมงด้วยซึ่งต่างประเทศทำไปแล้ว โดยสมาคมจะหารือเรื่องนี้กับกรมประมงในการประกาศปิดอ่าวปีต่อไป
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์