มช.เผยยุทธศาสตร์พื้นที่ภาคเหนือ นำวิทย์-เทคโนฯ-นวัตกรรมรวมอัตลักษณ์ท้องถิ่น

รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า มช.ตอบโจทย์การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือและของประเทศ โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์เชิงรุกของ 3 ด้าน คือ อาหารและสุขภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม และล้านนาสร้างสรรค์ และยุทธศาสตร์เชิงพันธกิจ คือการวิจัยเพื่อความเป็นเลิศและนวัตกรรม โดยมีงานวิจัยสำคัญๆ เช่น พลาสติกชีวภาพดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ รากฟันเทียมทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับดูแลผิว ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด และเทคโนโลยีการเก็บรักษาน้ำพริกหนุ่มด้วยเทคนิคฟรีซดรายอิ้ง เป็นต้น

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังนำเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือมาร่วมกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาให้เป็นย่านนวัตกรรม ส่งเสริมให้คนในพื้นที่ผลิตสินค้าและทำธุรกิจบริการในเชิงสร้างสรรค์ อันจะกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั่วทั้งภาค โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ เช่น นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ของสภาอุตสาหกรรมฯ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของสภาหอ การค้าฯ ขณะที่ มช.มีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ทำหน้าที่เป็นนิคมวิจัยที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ถือเป็นระบบนิเวศที่ให้ภาคเอกชนมาทำการวิจัยและพัฒนา และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ที่สามารถนำงานวิจัยพื้นฐานไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์

“อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และมช. จะทำหน้าที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ 4.0 ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย พัฒนาการท่องเที่ยวและการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูง การเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อนุภูมิภาคอ่าวเบงกอล และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อขยายฐานเศรษฐกิจของภาคเหนือ ยกระดับเป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง พัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจน และอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ จัดระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561