เกษตรจังหวัดกระบี่ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคเหี่ยวสับปะรด

นายประคอง อุสาห์มัน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร รักษาการเกษตรจังหวัดกระบี่กล่าวว่าโรคเหี่ยวสับปะรด หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรคเอ๋อที่มีแนวโน้มการระบาดสู่แหล่งปลูกสับปะรดทั่วประเทศ ปัจจุบันได้แพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่ปลูกสับปะรดของจังหวัดกระบี่แล้ว ทั้งนี้พื้นที่ปลูกสับปะรดในจังหวัดกระบี่มีประมาณ 7,000 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ นอกจากสร้างรายได้ในระหว่างรอผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันออกมาแล้วยังเป็นการควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชทางอ้อมอีกด้วย สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่จึงขอแจ้งให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงสับปะรดและเฝ้าระวังการระบาดของโรคเหี่ยวสับปะรด

เชื้อสาเหตุ : เชื้อไวรัส Pineapple Mealybug Wilt-associated Virus

ลักษณะอาการ

อาการแรกนั้นเกิดกับระบบรากก่อน โดยรากจะไม่มีการสร้างเซลล์ส่วนปลายราก ชะงักการเจริญเติบโต รากจะไม่ทำงานและเซลล์จะตาย ซึ่งต่อมาเนื้อเยื่อส่วนราก จะเน่า (Rotting) แล้วสับปะรดจะแสดงอาการให้เห็นทางส่วนปลายใบและตัวใบในเวลาต่อมา   คือใบจะอ่อนนิ่ม มีเขียวอ่อน หรือสีเหลืองอ่อน ปลายใบแห้งเป็นสีน้ำตาลจนถึงสีแดงลามสู่โคนใบ ใบลู่ลง แผ่แบนไม่ตั้งขึ้นเหมือนใบปกติ ต่อมาต้นเหี่ยวและแห้ง รากสั้นกุด ถอนต้นง่าย การทำลายเริ่มตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ทั้งในแปลงต้นปลูก และแปลงต้นตอ แสดงอาการเด่นชัดหลังการบังคับดอก ผลสับปะรดจะไม่พัฒนา มีขนาดเล็ก การทำลายทำให้คุณภาพ และผลผลิตเสียหายมาก ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับระยะการเติบโตของสับปะรด ความแข็งแรง และสภาพภูมิอากาศแต่เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยปกติในระยะ 1-4 เดือนแรกสับปะรดจะมีการเติบโตปกติ หลังจากนั้นอาจแสดงของโรคให้เห็นอย่างรวดเร็ว“เป็นแบบ เหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว” (Quick wilt) โดยสับปะรดจะเหี่ยวจากปลายใบ แล้วลุกลามสู่ตัวใบต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมแดงชมพู (Reddish –yellow) หรือเหลือจัด( Necrosis) ใบหักงอและจะตายในที่สุด

 การแพร่ระบาด

การระบาดอย่างรวดเร็วของโรคเหี่ยวเฉาตายของสับปะรดนี้ เป็นเพราะมีการแพร่ระบาดของแมลงพาหะคือเพลี้ยแป้งที่มีนิสัยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นสับปะรด ที่เป็นโรคเหี่ยวตายสู่ต้นที่ปกติในรูปแบบการกระจายตัวแบบวงกลมมีการขยายจากจุดกลาง (ต้นเกิดโรค) แล้วค่อยๆลุกลามไปเรื่อยๆโดยมีมด ( Ants) ซึ่งเป็นตัวการนำเพลี้ยแป้งสู่ต้นอื่นๆ ขณะที่บางช่วงอายุเพลี้ยแป้งจะสร้างปีกบินได้จึงสามารถอพยพสู่ต้นสับปะรดอื่นๆได้เช่นกัน

เพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส สู่ต้นสับปะรดในขณะดูดกินน้ำเลี้ยงผ่านทาง phloem และเชื้อไวรัสจะเข้าฟักตัวในต้นสับปะรด และจะแสดงอาการเมื่ออ่อนแอ และสภาพแวดล้อมเหมาะสม สำหรับเพลี้ยแป้งนั้นมี 2 ชนิดคือ เพลี้ยแป้งสับปะรดสีชมพู (Dysmicoccusbrevipes (Cockerell) มักพบเสมอบริเวณรากข้างหน่อ-ต้น (บริเวณโคนของหน่อ,ต้นบริเวณผิวดิน หรือใต้ดินเล็กน้อย) หรืออาจพบที่ส่วนบนต้น ปลายใบและผลอ่อน และเพลี้ยแป้งสับปะรดสีเทา (Dysmicoccusneobrevipes (Beardsley) มักพบบริเวณส่วนบนต้นใบและผลสับปะรด มักปะปนอยู่กับเพลี้ยแป้งสีชมพู

การกระจายพันธุ์ของเพลี้ยแป้งอาศัยมดชนิดต่างๆช่วยในการขนย้าย โดยจะนำเพลี้ยแป้งจากต้นสับปะรดสู่ต้นสับปะรดแล้วจะขยายเผ่าพันธุ์มากขึ้น ซึ่งมดที่พบในแปลงสับปะรดนั้นมี 2 ชนิดที่เป็นตัวการขนเพลี้ยแป้งคือ มดหัวโต (Big Headed Ant: Pheidolemegacephala (F.) และมดแดง (Fire Ant : Solenopsisgeminata ( F) นอกจากนี้ ยังมีมดชนิดอื่นอีก 4-5 ชนิด ที่อาจเป็นพาหะขนย้ายเพลี้ยแป้งให้กระจายการระบาดได้รวดเร็วขึ้น โดยความสัมพันธ์ระหว่างเพลี้ยแป้งและมดนั้น เป็นไปแบบพึ่งพากัน (Symbiosis) คือ เมื่อเพลี้ยแป้งดูดน้ำเลี้ยงในท่ออาหาร (phloerm) จากต้นสับปะรดจะขับถ่ายสาร honey drew ที่เป็นสารเข้มข้นเหนียวและมีความหวาน ซึ่งจะสะสมในบริเวณที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง จึงเป็นแหล่งอาหารของมดและเชื้อรา (sooty mold ) โดยมดจะมี การอพยพหรือขนเพลี้ยแป้งจากต้นหนึ่งไปแหล่งอาหาร ต้นอื่นๆ เป็นวัฏจักรไป

 

 

               สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ แนะนำวิธีการป้องกันกำจัดดังนี้

  1. การเขตกรรม คือการทำความสะอาดแปลงปลูก โดยการไถกลบซากวัชพืชให้หมดโดยเร็วที่สุด เพื่อ

ทำลายตัวแก่ และแมลงพาหะ

  1. การตรวจสอบดูแปลงสับปะรด หากพบต้นที่แสดงอาการของโรคต้องรีบเก็บเผาทำลายทันที
  2. กำจัดแหล่งวัชพืชข้างเคียง เพื่อทำลายพืชอาศัย (host plant) ซึ่งเพลี้ยแป้งใช้เป็นแหล่งอาหาร
  3. อุปกรณ์เครื่องมือ รถแทรกเตอร์ ฯลฯ จำเป็นต้องทำความสะอาดและตรวจสอบการปนเปื้อน/ติด

มาของเพลี้ยแป้ง

  1. หน่อพันธุ์ จุก ต้องได้จากแหล่งที่ปลอดโรค และทำการจุ่มสารเคมีป้องกันและกำจัดก่อนปลูก
  2. ข้อแนะนำการใช้สารเคมีควบคุมและกำจัด เพลี้ยแป้งและมดทุกชนิด ดังนี้

6.1 สารมาราไธออน ชนิด 83% E.C. อัตรา 15-20 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ใช้จุ่มหน่อ/จุก หรือฉีดพ่นในแปลงเมื่อสับปะรดอายุ 3 และ 6 เดือน

6.2 สารคาร์บาริล ชนิด 85% W.P. อัตรา 15-20 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อสับปะรดอายุ 3และ 6 เดือน หรือใช้จุ่มจุกและหน่อก่อนการปลูก

6.3 สารไดอะซินอน ชนิด 60% E.C. อัตรา 15-20 ซีซี.ผสมน้ำ 20 ลิตร หรือ 500 ซีซี. ต่อน้ำ 600 ลิตร จุ่มหน่อ,จุกหรือฉีดพ่นสับปะรดเมื่ออายุ 3 และ 6 เดือน

6.4 สารโปรไทโอฟอสและสารโปรฟีโนฟอส อัตรา 20-25 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้จุ่มจุกหรือหน่อหรือฉีดพ่นในต้นสับปะรด 1-2 ครั้ง/ฤดู

  1. ถ้าโรคเหี่ยวระบาดเป็นบริเวณกว้างไม่สามารถถอนทิ้งได้ให้ใช้วิธีตัดใบที่เป็นโรค หลังจากนั้นฉีดพ่น

ปุ๋ยทางใบ ผสมแคลเซียมโบรอน จะทำให้ต้นฟื้นตัวสามารถให้ผลผลิตได้ระดับหนึ่ง

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ 075-611649