กระแส “ไก่งวง” ฟีเวอร์ ตลาดมะกันฮิตรับเทรนด์สุขภาพ

เนื้อแดง หรือเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างวัวและหมู ถือเป็นวัตถุดิบหลักของวงการอาหารมาอย่างยาวนานเนื่องจากรสชาติดีและราคาถูก แต่เมื่อเทรนด์สุขภาพมาแรงมากขึ้น ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเริ่มมองว่าเนื้อแดงไม่เป็นมิตรกับสุขภาพมากนักเนื่องจากมีสัดส่วนไขมันสูง และยังมีเรื่องที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO จัดให้เนื้อแดงอยู่ในกลุ่ม 2A หรืออาจจะเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ได้ ยิ่งทำให้เกิดดีมานด์เนื้อชนิดอื่นมาทดแทน

จึงเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ผลิตเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่จะผลักดันสินค้าของตนมารับดีมานด์ใหม่ๆเหล่านี้ และชิงส่วนแบ่งตลาดมาครอง

ล่าสุดสำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” ได้รายงานถึงเทรนด์การบริโภคเนื้อของชาวอเมริกันได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาบริโภค “เนื้อไก่งวง” ซึ่งเป็นไก่ขนาดใหญ่น้ำหนักเฉลี่ยตัวละประมาณ 9-15 กิโลกรัม กันมากขึ้น แม้จะไม่ใช่ช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปีก็ตาม

โดยอ้างตัวเลขคาดการณ์ของกรมวิชาการเกษตรของสหรัฐระบุว่าปีนี้ชาวอเมริกันบริโภคไก่งวงเฉลี่ย7.7 กิโลกรัมต่อคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 6% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา และสูงกว่าการบริโภคเนื้อวัว เนื้อไก่และเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นเพียง 2.4%, 1.6% และ 0.5% ตามลำดับ

สอดคล้องกับผลวิจัยของ “เทคโนมิค” บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งชี้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากการโหมโปรโมตของบรรดาผู้ผลิตเนื้อไก่งวงรายใหญ่ที่พยายามปั้นสินค้าของตนให้เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสุขภาพเมื่อเทียบกับเนื้อแดงขณะเดียวกันธุรกิจอาหารอย่างเชนร้านฟาสต์ฟู้ดระดับท็อปของตลาดเองก็ออกมารับลูกด้วยการเพิ่มเมนูจากไก่งวงขึ้นอีก 12% ในช่วง 1 ปีนี้

14760849791476085023l

ในเรื่องนี้ “จิม สนี” ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ เจนนี โอ (Jennie-O) หนึ่งในผู้ผลิตอาหารจากไก่งวง อธิบายว่า เนื้อสัตว์ปีกนั้นมีสัดส่วนไขมันต่ำกว่าเนื้อแดง จึงตอบโจทย์กลุ่มผู้รักสุขภาพซึ่งมองหาแหล่งโปรตีนไขมันต่ำ หรือลีนโปรตีน โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 18 ปี ไปจนถึงผู้ใหญ่วัย 34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อเนื้อไก่งวงมากที่สุดด้วย โดยเจนนี โอเองได้ทุ่มงบฯโปรโมตสินค้าและกระตุ้นการบริโภคเนื้อไก่งวงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนช่วยให้ไตรมาส 3 ปีนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 20%

เช่นเดียวกับ “บัตเตอร์บอล” (Butterball) ผู้ผลิตอาหารจากเนื้อไก่งวงรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐได้ลอนช์แคมเปญ “เทอแคททาเรียน” (Turketarians) ต่อเนื่องนาน 3 ปี เน้นชูประเด็นเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกพร้อมโปรโมตผลิตภัณฑ์เนื้อไก่งวงแปรรูป อาทิ เบอร์เกอร์ เบคอนและไส้กรอก ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการเสียเวลาเตรียม-ประกอบอาหารนาน เพื่อสร้างกระแสการกินไก่งวงในชีวิตประจำวันนอกจากช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า

อย่างไรก็ตามโอกาสนี้มาพร้อมความท้าทายนั่นคือแนวโน้มราคาเนื้อไก่งวงที่ขยับสูงขึ้นเนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนกในหลายพื้นที่ของสหรัฐ ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงเดือน พ.ค.ของปีนี้ ส่งผลให้หลายฟาร์มต้องกำจัดไก่งวงที่มีและปิดทำการชั่วคราวจนซัพพลายในตลาดลดลงไปกว่า 3.1 ตัน แม้ผู้ผลิตหลายรายจะพยายามเพิ่มจำนวนไก่งวงในฟาร์มของตน จนจำนวนรวมทั่วประเทศสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 4% หรือ 243 ล้านตัวแล้วก็ตาม

แต่กรมวิชาการเกษตรของสหรัฐคาดว่า ราคาไก่งวงแช่แข็งปีนี้จะอยู่ที่ 1.18-1.2 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ เพิ่มจากราคาเฉลี่ย 1.16 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ในปี 2558 และ 1.08 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ในปี 2557 เป็นผลจากจำนวนไก่งวงที่แปรรูปแล้วยังน้อยกว่าดีมานด์ในตลาด