นโยบาย “เมด อิน ไชน่า” พลิกโฉมส่งออกไทย

ตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของผู้ประกอบการไทย ในปี 2560 ไทยส่งออกไปจีนเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 995,475 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 19.4% โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ประมาณ 30%

สินค้าที่ส่งออกไปจีนส่วนใหญ่ของเอสเอ็มอีไทย คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าโภคภัณฑ์อย่างยางพาราและของที่ทำจากยาง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (เฟอร์นิเจอร์) พืชผักและผลไม้ และธัญพืช แต่สินค้าเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของจีนที่หันมาเน้นสินค้าอุตสาหกรรมขั้นสูงมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรกลต่าง ๆ ซึ่งทำให้ในอนาคตสินค้าหลักของเอสเอ็มอีไทยที่ส่งออกไปจีนน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนมีนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาประเทศจีนจากการเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิตสินค้ารายใหญ่ที่เน้นการผลิตเชิงปริมาณไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกที่เน้นคุณภาพของสินค้าและบริการ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการผลิตของจีนที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตดังกล่าว อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนโฉมหน้าของการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคได้ จึงคาดว่านโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ดังนี้

1.สินค้าจำพวกพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ซึ่งในระยะสั้น-กลางอาจยังไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกกลางน้ำของจีนมากนัก เนื่องจากกำลังการผลิตของจีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศและยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ในระยะยาว สินค้าส่งออกประเภทนี้น่าจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าจำพวก LLDPE และ EVA ดังนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจึงควรเลือกเน้นผลิตและส่งออกสินค้าขั้นกลางจำพวกพลาสติกประเภทอื่นที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกิดใหม่ภายใต้ Made in China 2025 ของจีนได้ เช่น lightweight plastic สำหรับยานยนต์ หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม จำพวกพลาสติกที่ย่อยสลายได้ หรือพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ปลูกทดแทนใหม่ ซึ่งทำมาจากข้าวโพด อ้อย หรือถั่วเหลือง (soy protein)

2.ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยาง ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากจีนมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกยางพารา รวมถึงมีการออกไปลงทุนในประเทศ CLMV รวมถึงในไทย จึงอาจทำให้มีผลผลิตป้อนเข้ามาในระบบ ส่งผลให้การนำเข้ายางพาราจากไทยลดลงไปบ้าง แต่จีนเองก็ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการสายการผลิตของจีนได้ ทำให้ในระยะสั้นผู้ส่งออกยางจากไทยจึงยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

เมื่อพิจารณาแนวโน้มความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 จะเป็นจุดพลิกผันบทบาทของจีนจาก “โรงงานของโลก” (factory of the world) ที่เคยได้อานิสงส์จากการเป็นแหล่งแรงงานต้นทุนต่ำ มาเป็น “ประเทศที่มีเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม” เหมือนดั่งที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของตัวเอง และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตแห่งอนาคตของจีนต่อไป