โคราชฝึกเด็กเอาตัวรอดจมน้ำช่วงหน้าร้อน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายคณิน สุคนธพงศ์ หัวหน้าหน่วยกู้ภัยฮุก 31จุดโนนสูง และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยฮุก 31 จุดอำเภอคง เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลอำเภอคง ได้จัดให้ความรู้และให้เด็กได้ปฏิบัติจริง ในการฝึกอบรมโครงการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำให้กับเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาระดับชั้น ป.4-ป.5 จากโรงเรียนหลายแห่งในเขตพื้นที่อำเภอคงกว่า 150 คน ณ ศาลาเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเต็ง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ปกครองสนใจพาบุตรหลานเข้าร่วมฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีสถิติจำนวนเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เฉลี่ยปีละประมาณ 60-70 ราย เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่เป็นจุดเสี่ยงในการจมน้ำของเด็กในพื้นที่รวมมากกว่า 70 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด

ในการจัดอบรมครั้งนี้ ใช้วิธีการลอยตัวบนผิวน้ำ เพื่อให้เด็กสามารถเอาชีวิตรอดได้เองขณะตกน้ำ สำหรับวิธีการลอยตัวในน้ำเริ่มต้นด้วยการพยุงศีรษะให้อยู่พ้นผิวน้ำ พร้อมกับเริ่มนอนหงายหลังแล้ว เหยียดแขนไปด้านบนศีรษะ กางขาให้อยู่นิ่งๆ สูดลมหายใจไว้เต็มปอดกลั้นเอาไว้จะทำให้ร่างกายเริ่มลอยน้ำ จากนั้นปล่อยลมออกจากปอดอย่างรวดเร็ว และสูดลมเข้าเต็มปอดกั้นเอาไว้สลับกันไป ร่างกายก็จะสามารถลอยอยู่บนน้ำได้เองเป็นเวลานาน โดยไม่จมน้ำ อีกทั้งยังฝึกอบรมทักษะในกับเด็กๆ ในการช่วยชีวิตผู้ที่จมน้ำอย่างถูกวิธีและไม่ให้เป็นอันตรายกับตัวผู้ที่ช่วยเหลือเอง ด้วยหลักการ “ตะโกน โยน ยื่น” คือ 1.ตะโกน โดยเรียกให้คนมาช่วย และรีบโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 หรือ รพ.ใกล้เคียง 2.โยน คือการโยนอุปกรณ์ใกล้ตัว วัสดุลอยน้ำได้ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า เพื่อให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัวได้ 3. ยื่น คือการยื่นของยาวๆ ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับเพื่อดึงตัวขึ้นมาจากน้ำ เช่น เสื้อผ้า ไม้ เป็นต้น
ที่มา มติชนออนไลน์