ส.โรงสีฯ ออกโรงร้อง “นบข.” คุมเข้มวัดความชื้นข้าวสาร

ส.โรงสีข้าวฯ ชง นบข.คุมเข้มเครื่องวัดความชื้น “ข้าวสาร” เทียบเท่าข้าวเปลือก ลดต้นทุนแฝงโรงสี-สร้างมาตรฐานทั้งระบบอุตสาหกรรมข้าว

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ตนพร้อมคณะผู้บริหารสมาคม ได้ประชุมร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำนายกรัฐมนตรี (นางจินตนา ชัยยวรรณาการ) เพื่อหารือถึงแนวทางกำหนดมาตรฐานอัตราและเครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกและข้าวสารทั้งระบบ สำหรับเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารและจัดการข้าว (นบข.) ในวันที่ 2 มี.ค.นี้

“ทั้งที่ประกาศกำหนดว่า การค้าข้าว หมายถึง ข้าวทุกชนิด ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร แต่กลับบังคับให้เฉพาะโรงสีติดเครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกเท่านั้นจึงเสนอให้มีเครื่องวัดความชื้นข้าวสารด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ขณะนี้โรงสีกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบการทำบัญชีเดียว การตัดลดค่าความชื้นเป็นต้นทุนแฝงทางบัญชีของโรงสี ทุก 1% เท่ากับค่าข้าว 15 กรัม นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับลดค่าความชื้นเฉลี่ยจากเดิมที่กำหนด 15% เหลือ 14% ให้เป็นระดับเดียวกันทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร เพื่อประโยชน์ต่อระบบห่วงโซ่การค้าข้าว” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

สำหรับข้อเสนอของสมาคม ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1. เครื่องวัดความชื้นนั้น ไม่ว่าเครื่องชนิดบิดหรือเครื่องชนิดกระบอก โดยหลักการแล้วจะต้องวัดความชื้นได้เท่ากัน ทั้งนี้ กฎกระทรวงกำหนดเครื่องวัดในบังคับ พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ให้คำนิยาม “ข้าว” หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวกล้องด้วย ประเด็นปัญหาที่นำเสนอ คือ ผู้ประกอบการโรงสีถูกกำหนดให้ใช้เครื่องวัดความชื้นทรงกระบอก (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์) โดยตัดโปรแกรมอื่นๆ ออกเพื่อให้วัดความชื้นของข้าวเปลือกได้อย่างเดียว โรงสีจึงไม่มีเครื่องมือวัดข้าวสารและข้าวกล้องที่เป็นมาตรฐานตามการรับรองของชั่ง ตวง วัด ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้ สะท้อนว่ามาตรฐานในการวัดความชื้นยังแตกต่างกันอยู่มาก อีกทั้งในกรณีที่โรงสีขายข้าวสารให้ผู้ส่งออกซึ่งใช้เครื่องวัดความชื้นชนิดบิดคนละแบบกันกับโรงสี โดยหลักการแล้วไม่ว่าเครื่องชนิดใด รูปแบบใด ต้องวัดค่าได้เท่ากันด้วย

2. ทางสมาคมจึงขอให้เพิ่มเติม ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง การใช้เครื่องวัดความชื้นข้าวในการซื้อขายหรือจำหน่ายข้าวเปลือก ซึ่งออกมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2560 ให้ครอบคลุมถึงข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวกล้อง ตามคำนิยาม “ข้าว” ตามกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว

และ 3. เสนอให้ปรับมาตรฐานความชื้นทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารให้อยู่ที่ 14% จากเดิมที่กำหนดให้ความชื้นข้าวเปลือกอยู่ที่ 15% และข้าวเหนียวที่ 12% เพื่อที่ได้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง เพราะถ้าสูงกว่านั้นจะเก็บรักษายาก เสี่ยงต่อการเสียหาย เพื่อลดปัญหาต้นทุนแฝงจากค่าความชื้นซึ่งสูงมาก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 – วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561

Advertisement