‘บิ๊กฉัตร’ ตรวจอุโมงค์ส่งน้ำแม่กวงฯ หวังป้องภัยแล้ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เพื่อรองรับและป้องกันการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2561

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน โครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2564 จะสามารถสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำปิงได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมกันนั้นยังให้ความสำคัญในการจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาวางผังเมืองและระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคด้วย

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ นั้น ในส่วนของกรมชลประทาน พล.อ.ฉัตรชัย ให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินงานโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ให้แล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2564

ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแบ่งเป็น 2 ช่วง ด้วยกันคือ ช่วงที่ 1 การขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ-อ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ และอาคารประกอบ ระยะทาง 22.975 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 4,713 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า 27% ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงลำน้ำแม่แตง-อ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ และอาคารประกอบ ระยะทาง 25.624 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 647 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า 10%

สำหรับการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในการดำเนินโครงการฯ นั้น การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำทั้ง 2 ช่วง จะใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรวมกันประมาณ 745 ไร่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะเหลือเฉพาะพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จำนวนประมาณ 229 ไร่ อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์