เปิดเวทีประกวด โคนมพันธุ์ดี ระดับประเทศ กระตุ้นเกษตรกรรับมือแข่งเดือด อุตสาหกรรมนมอาเซียน

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประกาศผลประกวดโคนมพันธุ์ดี ระดับประเทศ หวังกระตุ้นเกษตรกรเร่งพัฒนาพันธุ์ให้แกร่ง ดันอุตสาหกรรมนมไทยขึ้นแทนผู้นำอาเซียน พร้อมขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 รองรับยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 2560-2569 วางเป้ายกระดับรายได้โคนมรายย่อย ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/คน/ปี

นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า เพื่อแสดงความก้าวหน้าของการปรับปรุงพันธุ์โคนมในประเทศ รวมทั้งแสดงศักยภาพด้านผลผลิตน้ำนมของแม่โคนมที่เกิดในประเทศไทย อ.ส.ค. ได้จัดให้มีการประกวดโคนมชิงถ้วยพระราชทาน ในงาน “เทศกาลโคนมแห่งชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น ครั้งที่ 35

สำหรับปีนี้จัดให้มีการประกวดโคนมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 โคนม อายุระหว่าง 12-15 เดือน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โคนม ของ นายสุภัทร์ ทองสนิท ฐิดาฟาร์ม สหกรณ์ราชาแดรี่

ประเภทที่ 2 โคนม อายุระหว่าง 15-18 เดือน รางวัลที่ 1 ได้แก่ โคนม ของ นายโยธิน ประสบการณ์ ศรีจันทร์ฟาร์ม สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด

ประเภทที่ 3 โคนม อายุระหว่าง 18-21 เดือน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โคนม ของ นายสุริยา คล้ายสังข์ แพรฟาร์ม สหกรณ์ โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด

ประเภทที่ 4 โคนม อายุระหว่าง 21-24 เดือน (ไม่ผ่านการรีดนม) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โคนม ของ นายสุภาสิต สูบกำปัง สุภาสิตฟาร์ม สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด

ประเภทที่ 5 โคนมสาวท้องแรก อายุไม่เกิน 28 เดือน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โคนมสาว ของ นายศราวุธ ก้อนคำ สหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินซับสนุ่น จำกัด ให้ปริมาณน้ำนมเฉลี่ย 41.45 กิโลกรัม/วัน

ประเภทที่ 6 โคนมมาก ไม่จำกัดอายุ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โคนม ของ นายสุภาสิต สูบกำปัง สหกรณ์
โคนมมวกเหล็ก ให้ปริมาณน้ำนมเฉลี่ย 45.62 กิโลกรัม/วัน และ

ประเภทที่ 7 โคนมอายุมากกว่า 24 เดือน (ด้านรูปร่าง) ของ นายสุภาสิต สูบกำปัง สุภาสิตฟาร์ม สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด

นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อ.ส.ค. ได้จัดทำแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 รองรับยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 2560-2569 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

  1. การสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงในการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
  2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบและการจัดการฟาร์มให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
  3. วิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม และ
  4. สร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรสายกิจการโคนม เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนพัฒนายกระดับประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมภายในประเทศและอาเซียน

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมโคนมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีโคนมกว่า 500,000 ตัว กว่าครึ่งเป็นแม่โครีดนม กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ กำลังการผลิตน้ำนมดิบไม่ต่ำกว่า 850,000 ตัน มูลค่าการผลิตผลิตภัณฑ์นมไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท น้ำนมดิบส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกส่งป้อนตลาดนมพาณิชย์ นมที่ป้อนเข้าสู่โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน 10 เปอร์เซ็นต์

โดยปริมาณดังกล่าว แบ่งเป็นเกษตรกรในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. จำนวน 4,332 ราย มีปริมาณโคนมรวมกว่า 123,000 ตัว โดย อ.ส.ค. มีเป้าหมายเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มทักษะการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรสมาชิก มุ่งส่งเสริมให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าจะสามารถช่วยยกระดับฟาร์มโคนมให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน จีเอพี (GAP) ปีละ 30 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะครอบคลุมครบ 100เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3 ปี ซึ่งจะทำให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมลดต้นทุนการผลิตลง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/คน/ปี และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพด้วย