ส่งออกผวาข้าวพันธุ์ใหม่ญวน-เขมรตีตลาดจีน

สมาคมผู้ส่งออกข้าวฯหวั่นข้าวไทยเสียส่วนแบ่งตลาด หลัง “เวียดนาม” ส่งข้าวขาวพันธุ์ใหม่ 5451 คุณภาพดี-นุ่ม-ราคาถูกกว่าไทยตันละเกือบ 500 เหรียญสหรัฐ ถล่มชิงแชร์ตลาดจีน ดันยอดส่งออกหอมมะลิเวียดนามพุ่ง 1,991% ในช่วง 10 ปี จี้กระทรวงเกษตรฯพัฒนาต่อยอดพันธุ์ กข 53-กข 21 คุณภาพใกล้เคียงสู้

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงทิศทางการส่งออกข้าวในปี 2561 ว่า สมาคมประเมินการส่งออกไว้ที่ 9.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2560 ที่ส่งออกข้าวได้ 11.6 ล้านตันมูลค่าส่งออก 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐโดยการส่งออกที่ลดลงมาจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทและภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกข้าวขาวคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามได้พัฒนาและทำตลาดข้าวขาวชนิดใหม่เป็นข้าวขาวพื้นนิ่มพันธุ์ 5451 คุณภาพดีและราคาต่ำมาแข่งขันในตลาดเดียวกับไทยคือ ตลาดข้าวจีน

เวียดนามต้องการข้าวไทย

จากปกติจีนนำเข้าข้าวขาวปีละ 5 ล้านตัน โดยจะนำเข้าจากไทย 3 ล้านตันเวียดนาม 600,000 ตัน และจากแหล่งผลิตอื่น ๆ เช่น กัมพูชา เมียนมา ส่วนตลาดอื่นที่มีการนำเข้าข้าวขาวนอกจากจีน มีตลาดฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย ก็เริ่มนิยมบริโภคข้าวขาวพื้นนิ่มของเวียดนามมากขึ้น กลายเป็นข้อกังวลว่า หากประเทศเหล่านี้นำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โอกาสที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดก็มากตามไปด้วย

“ต้องยอมรับว่า เวียดนามมีพันธุ์ข้าวเข้ามาทำตลาดแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวขาวพันธุ์ 5451 ได้ถูกพัฒนามาเมื่อ 2-3 ปีก่อน ผลผลิตต่อไร่สูง 800 กก. เป็นข้าวขาวพื้นนิ่ม มีรสชาติดี อีกทั้งตั้งราคาขายเพียงตันละ 490 เหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงกับข้าวไทยมาก จากก่อนหน้านี้เวียดนามได้เคยนำพันธุ์ข้าวอื่นออกมาทำตลาดแข่งกับไทยแล้ว เช่น ข้าวนางฮวา (Nang Hua) เป็นข้าวขาวและข้าวหอมมะลิผสมกัน ตั้งราคาส่งออกราคาตันละ 600 เหรียญ หรือ ข้าวหอม KDM ตันละ 700 เหรียญ ต่ำกว่าราคาข้าวหอมมะลิไทยที่ตันละ 1,100-1,200 เหรียญ ขณะที่ราคาข้าวขาวไทยตันละ 440 เหรียญสหรัฐ ถูกกว่าเวียดนามก็จริง แต่ผู้บริโภคกลับหันไปซื้อเวียดนาม เนื่องจากถูกปากมากกว่า”

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาเวียดนามส่งออกข้าวรวมทั้งหมด 5.77 ล้านตัน แบ่งเป็นส่งออกข้าวขาว 2.183 ล้านตัน ขยายตัว4% จากปี 2559 ที่ส่งออกได้ 2.10 ล้านตันและเป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดส่งออกข้าวหอมมะลิเวียดนามสามารถทำได้ถึง 1.94 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.55 ล้านตัน แต่หากเทียบย้อนหลังไป 10 ปีจะพบว่าเวียดนามส่งออกข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นถึง 1,991% จาก 92,861 ตัน ในปี 2550 ขณะที่

ภาพรวมข้าวไทยส่งออกได้ 11.6 ล้านตัน เป็นข้าวขาว 100% ปริมาณ 993,636 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 59.6% จากปี 2559 ที่ส่งออกได้ 622,450 ตัน แต่หากเทียบย้อนหลังไป 10 ปี จะพบว่ายอดส่งออกข้าวขาวไทยลดลง 30% จากปี 2550 ที่เคยส่งออกได้ 1.4 ล้านตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ 1.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.6% จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.53 ล้านตัน แต่หากเทียบย้อนหลัง 10 ปี จะพบว่ายอดส่งออกหอมมะลิไทยลดลง 13.2% จากปี 2550 ที่เคยส่งออกได้ 1.85 ล้านตัน

จี้พัฒนาพันธุ์ข้าวไทย

อย่างไรก็ดี สมาคมผู้ส่งออกข้าวได้นำประเด็นนี้ไปหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางรักษาตลาดส่งออกข้าวไทยในอนาคต โดยให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะพันธุ์ กข 53 และ กข 21 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเดิมที่ไทยมีอยู่ และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาก คือรสชาติดี เหนียวนุ่ม แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำเพียง 400 กก.ต่อไร่ ทำให้เกษตรกรไม่นิยมปลูก หันไปปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตเร็วเพื่อทำตลาด แต่หากไทยสามารถพัฒนาต่อยอดได้จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น และชาวนาก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นด้วย แต่หากไม่เร่งแก้ไขในอนาคตไทยอาจเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งไม่ใช่แค่เวียดนาม อาจจะเสียให้กับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นด้วย

“ปีนี้เราไม่มีปัจจัยเรื่องสต๊อกข้าวเป็นแรงกดดันราคาข้าวในตลาด แม้สต๊อกข้าวยังคงค้างบ้างแต่ก็ไม่ใช่ข้าวที่ใช้ในการบริโภค เป็นข้าวที่เข้าสู่อุตสาหกรรม ทิศทางราคาข้าวเปลือกตอนนี้ปรับตัวดีขึ้น เฉลี่ย 8,500 บาทต่อตัน เนื่องจากข้าวในมือชาวนามีน้อย โดยปีการผลิต 2561/2562 ประเมินว่าผลผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ 30 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา”

ซ้ำเติมค่าบาท

นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทย ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันอย่างมาก ส่งผลให้ไทยขายข้าวแพงกว่าเวียดนาม ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ไทยมีโอกาสเสียตลาดให้คู่แข่งเพิ่มขึ้น จึงคาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและควบคุมให้ค่าเงินบาทไทยมีเสถียรภาพ หากจะปรับค่าเงินให้อ่อนค่าก็ขอให้ค่อย ๆ ลง ผู้ส่งออกข้าวจะได้ปรับตัว รวมถึงผู้ส่งออกสินค้าอื่น ๆ ด้วย

คู่แข่งใหม่ข้าวกัมพูชา

ด้านแหล่งข่าวจากวงการส่งออกข้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการแข่งขันพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเกิดขึ้นรุนแรงช่วง 2-3 ปีนี้ และปีนี้รุนแรงมาก ส่วนหนึ่งเพราะราคาข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมของไทยสูงถึงตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ผลผลิตลดลงทำให้ราคาสูงขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่เป็นจังหวะที่คู่แข่งได้เริ่มทำตลาด

ข้าวสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะข้าวเวียดนามมาแรงมาก แข่งกับข้าวหอมมะลิไทยในตลาดจีน ด้วยจุดแข็งที่ราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง และมีความนุ่มเหนียวจึงได้รับความนิยมมากกว่า ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าไปหลายแสนตัน และยังมีอีกชนิดเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ของกัมพูชาที่ผู้ประกอบการจีนลงทุนเข้าไปพัฒนาสายพันธุ์ในกัมพูชา และส่งกลับไปขายตลาดจีนในราคาตันละ 500-600 เหรียญสหรัฐ

“ปัญหานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากผู้ส่งออกไปแนะนำชาวนาให้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ราคาถูกมาแข่งกับข้าวเวียดนาม ก็อาจถูกกล่าวหาว่าทำให้เกษตรกรไทยขายข้าวหอมมะลิซึ่งมีราคาสูงได้ลดลง รายได้ลดลง แต่หากเราไม่พัฒนาพันธุ์ขึ้นมาแข่งขัน ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไปให้เวียดนามและกัมพูชาในอีกไม่ช้าแน่นอน ขณะนี้จึงมีผู้ส่งออกรายใหญ่บางราย เช่น

ธนสรรไรซ์ ได้เข้าไปหารือกับกรมการข้าว ขอให้เป็นผู้จำหน่ายข้าวพันธุ์ใหม่ที่กรมการข้าวกำลังจะทดลองวางตลาด ซึ่งเป็นพันธุ์ที่สามารถแข่งขันด้านราคากับเวียดนามได้”

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า คาดการณ์ปี 2561 จะส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวขาว 4.5 ล้านตันข้าวหอมมะลิ 1.8 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 2.3 ล้านตัน ข้าวเหนียว 0.4 ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.5 ล้านตัน โดยนับตั้งแต่วันที่ 1-16 มกราคม 2561 ไทยส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ปริมาณ 0.433 ล้านตัน อินเดียได้ 0.408 ล้านตัน และเวียดนามได้ 0.14 ล้านตัน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์