ชีวิตเหยิมเหยิม 8 พื้นที่กิจกรรม โรงละครเหยิมเหยิม

เหยิมเหยิมการละคร คิดอยากจะสร้างโรงละครที่เหยิมเหยิม

เมื่อเริ่มทำสวนเหยิมเหยิม สมาชิกคิดกันว่า นอกจากจะมีห้องสมุด มีกิจกรรมอ่านเขียน มีงานศิลปะ มีสวนผสมผสาน มีสวนกุหลาบ มีกิจกรรมการทำอาหารบ้านๆ แล้ว ในสวนเหยิมจะมีโรงเรียนสอนดนตรี เพราะสมาชิกคนหนึ่งเป็นครูสอนดนตรี แต่ก่อนที่จะเปิดสวน ก่อนที่จะมีโรงเรียนสอนดนตรี สมาชิกครูสอนดนตรีก็ย้ายฐานไปอยู่ที่อื่นและออกจากหุ้นส่วนไป โรงเรียนสอนดนตรีกับกิจกรรมเรื่องดนตรีจึงต้องจบลง

แล้ววันหนึ่งเหยิมเหยิมก็ได้ต้อนรับนักการละคร ฉันจึงคิดใหม่ว่า เหยิมเหยิมอาจจะมีโรงละครกลางแจ้ง เวทีละคร มีฉากธรรมชาติ ไม่ต้องตกแต่ง มีสวนจริง มีธารน้ำจริง  พระอาทิตย์จริง พระจันทร์จริง อีกทั้งงานวรรณกรรมก็จะถูกนำมาดัดแปลงเป็นบทละคร

นักการละครที่มา เธอชื่อ ฟาริดา เรารู้จักกันเมื่อสองปีที่แล้ว ฉันเป็นนักเขียน ฟาริดาเป็นนักการละคร เราไปทำงานที่เรือนจำขอนแก่น ในโครงการใจสู่ใจ ฟาริดาเป็นนักกิจกรรมที่จัดกระบวนการเรียนรู้โดยนำการแสดงละครเข้ามาประยุค ส่วนฉันเป็นนักเขียนก็ทำเกี่ยวกับเรื่องการเขียน เขียนเพื่อผ่อนคลาย เขียนเพื่อบททวน เขียนเพื่อการค้นหาตัวตน เป็นต้น

เธอมาพักที่สวนเหยิมเหยิม นอนในห้องสมุดถนอมแพร ความจริงเธอต้องการมาพักผ่อน มาใช้ชีวิตแบบเหยิมเหยิม แต่เมื่อมาถึง วันแรกเราก็คิดกิจกรรมกันทันที นักการละครมาก็ต้องทำอะไรที่เกี่ยวกับการละคร ให้สมกับที่เหยิมเหยิมมีพื้นที่กิจกรรมที่กว้างขวาง และการละครก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่อยู่ในแนวทางของเหยิมเหยิม

เรามีพื้นที่รอบนอกกว้างขวาง ทั้งในส่วนด้านข้างที่ทำไว้สำหรับเป็นเวทีและที่กางเต๊นท์ ด้านหลังที่มีลานกว้างสำหรับพื้นที่กิจกรรมโดยเฉพาะ สะพานที่ทอดยาวถึงตัวอาคารห้องสมุดก็เป็นพื้นที่กิจกรรมการละครได้

อันดับแรก ชวนเด็กๆ เล่นละคร คิดว่าเริ่มจากวงเล็กๆ โดยลูกหลานของพวกเพื่อนๆ และคนรู้จักของเพื่อนๆ ในละแวกนี้ก่อน

มีเด็กห้าคนสนใจกิจกรรม ชวนน้องเล่นละคร และมีน้องๆ นักศึกษาการละคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลูกศิษย์ อาจารย์คำรณ คุณดิลก มาร่วมกิจกรรมเป็นการทำงานและศึกษาเรียนรู้ด้วย

เด็กๆ กลุ่มนี้แสดงความเป็นมืออาชีพนั้นคือการเตรียมความพร้อม เขาว่าการเตรียมความพร้อมที่ดีเป็นความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งนั้นเป็นจริง งานเล็กงานใหญ่ก็ต้องเตรียมความพร้อม นักศึกษาการละครมาดูพื้นที่การจัดกิจกรรมก่อนหนึ่งวันเพื่อพูดคุยวางแผนกิจกรรม

และแล้วเหยิมเหยิมการละครก็เริ่มขึ้น…ยามเช้าของวันหนึ่งในฤดูหนาว พี่ๆ มากันพร้อม รอน้องๆ เดินทางมา คนแรกมาแล้ว น้องฟ้า กับ คุณแม่ น้องฟ้าเรียนมอสามโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม ฟ้าเป็นเด็กที่ชอบแสดง เธอเป็นนักร้องที่ผ่านเวทีการประกวดมาตั้งแต่เด็ก แต่สำหรับการเล่นละครเป็นครั้งแรก คนที่สอง น้องมายา เด็กกว่าน้องฟ้านิดหนึ่ง คนที่สาม น้องจูนี่ อายุเท่าน้องฟ้าโรงเรียนเดียวกัน คนที่สี่ น้องซัน น้องซันโตกว่าใคร เรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย คนเล็กสุดคือ น้องมาลา อายุหกขวบ และคนสุดท้ายจริงๆ ที่เพิ่งมาแบบม้ามืดคือ น้องม่อนภู สามขวบ

กิจกรรมกระบวนการของฟาริดาและพวกน้องๆ นักศึกษา มีหลายอย่างแต่ที่สนุกสนานกันมากที่สุดคือ การต่อตัวกันให้เป็นเครื่องบินลำหนึ่งที่พร้อมจะบินไป นักศึกษาอุ้มมาลาน้องเล็กสุดเป็นหัวเครื่องบิน เมื่อเครื่องบินพร้อมบินพวกเขาวิ่งไปตามถนนให้คงเป็นเครื่องบินมีหัว ปีก ทั้งสอง และหางพร้อม บินไปสองรอบก่อนจอดที่สนามบินเหยิมเหยิมการ์เด้น

จากนั้นก็แบ่งกลุ่มคิดการแสดงแบบรวดเร็ว ไม่ต้องพูดแสดงท่าทางแบบฉากเดียวค้างไว้และให้อีกกลุ่มทาย กลุ่มแรกแสดงเป็นไฟไหม้ ส่วนอีกกลุ่มเป็นผึ้งแตกรัง ฟาริดาบอกว่า ทุกสิ่งในโลกนี้พูดได้ เมื่อฟาริดาแตะตัวใครก็ให้สิ่งนั้นพูดออกมาในนามของตัวละคร แตะตัวไฟ ไฟก็เปล่งเสียงออกมา ไม้ฟืน เตาถ่าน ผึ้งแตกรัง เด็กทำร้ายผึ้ง และต้นไม้ เป็นต้น

ช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวผัดไข่ของน้าป๋อแล้ว เด็กๆ จะต้องเอาเรื่องราวที่เล่นเป็นละครฉากเดียวมาทำให้เป็นบทละครที่สมบูรณ์ขึ้น จากเรื่องผึ้งแตกรังที่เหยิมเหยิม และไฟไหม้ มาทำให้สมบูรณ์และพร้อมเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการในตอนบ่ายที่โรงละครเหยิมเหยิมการละคร ผู้แสดงพร้อม ผู้ชมพร้อม…

ก่อนเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการนักแสดงคนใหม่ก็มา เขาเพิ่งตื่นนอนงอแงร้องไห้ แม่อุ้มมานั่งที่สะพาน ข้าวผัดกับซุปถูกนำมาเสิร์ฟ เขากินไปสองสามคำ เมื่อเปิดการแสดงเขาบอกว่าอยากแสดงด้วยและอยู่กลุ่มมาลาเท่านั้น แรกๆ แม่ไม่ยอม เพราะกลัวจะเสียกระบวนการงานคนอื่น แต่เขาร้องไห้จึงต้องยอมเพิ่มนักแสดง มีการคุยกันเล็กน้อยว่าเขาต้องแสดงเป็นลูกเป็นน้องของมาลา เปิดฉากทำกับข้าว น้องฟ้าเป็นเตาไฟ มาลาเป็นคนใส่ฟืน พี่นักศึกษาอีกคนเป็นไฟ  ในระหว่างทำกับข้าว เพื่อนบ้านมาเรียก แม่บอกให้ลูกทั้งสองดูอาหารให้แม่ด้วยนะ มาลา ม่อนภู

มาลาเอาฟืนใส่เตาจนไฟลุก ส่วนแม่ก็ออกไปเม้าส์กับเพื่อนบ้านเรื่องเด็กชายเกเรคนหนึ่งโดนผึ้งที่สวนเหยิมเหยิมต่อย อยู่ๆ ม่อนภูก็เรียกแม่แม่ขึ้นมาสมบทบาทโดยไม่ต้องซ้อมเลยทีเดียว

อีกกลุ่มหนึ่งแสดงเรื่องผึ้งแตกรัง เขาเล่นเรื่องนี้เพราะที่ต้นลั่นทมหน้าห้องสมุดมีผึ้งอยู่รังหนึ่ง มีป้ายห้อยเขียนว่า โปรดระวังบ้านน้องผึ้ง อย่ารบกวนนะจ๊ะ ผึ้งรังนี้เป็นที่หมายปองของหลายคนที่เดินผ่านมา พวกเขาอยากได้น้ำผึ้งมากิน เอาตัวอ่อนมันคั่ว ทำน้ำพริกตัวอ่อนผึ้ง แต่สมาชิกสวนเหยิมเหยิมไม่มีใครต้องการทำร้ายผึ้ง อยากให้เขาอยู่อย่างนั้นต่อไป และเชื่อว่าสามารถอยู่กันได้อย่างสงบ

“บ้านของใคร ใครก็รัก” สมาชิกคนหนึ่งว่า

“เรากินเขาไป เราก็อิ่มไม่นาน” สมาชิกอีกเสริม

ในที่สุดก็สรุปว่าเราให้เขาอยู่อย่างนั้นแหละ ติดป้ายไว้ว่าอย่ารบกวน ให้เขาอยู่ไป เราเชื่อว่า ใครก็ไม่อยากทำร้ายกันถ้าไม่มีใครทำร้ายใครก่อน

ชาวสวนเหยิมเหยิมเป็นคนมีเมตตาต่อสัตว์ สัตว์มีพิษพวกตะขาบ แมงป่อง และแม้แต่งู ก็ไม่มีใครทำร้ายฆ่าฟัน จะไล่ให้เขาไป ถ้าเป็นงูก็จะบอกเขาว่าไปเถอะไปอยู่ในป่ารก ถ้าเป็นแมงป่อง ตะขาบ ก็เอาไม้คีบถ่านคีบไปปล่อยให้พ้นบ้าน ต่อ แตน ผึ้ง ก็เช่นเดียวกัน เราแค่ติดป้ายเอาไว้ที่บ้านผึ้ง นั่นบ้านต่อหลุมโปรดอย่ารบกวนเขา

กลับมาที่ละครของเหยิมเหยิมการละคร เรื่องผึ้งแตกรัง เริ่มจากครอบครัวผึ้งสามตัวแม่ลูก บินออกหาต้นไม้ทำรังและมาพบสวนเหยิมเหยิมซึ่งมีกุหลาบมากมาย มีต้นไม้ใหญ่เหมาะที่จะทำรังจึงเข้าไปถามนายต้นไม้ว่า ขอเกาะอยู่ด้วยได้ไหม นายต้นไม้ยินดี ผึ้งแม่ลูกจึงอยู่ที่ต้นไม้ ลูกผึ้งออกบินไปที่สวนกุหลาบ เมื่อเด็กชายเห็นก็เอาน้ำไปสาด ผึ้งลูกบินหนีกลับไปหาแม่ที่รัง เด็กชายตามไปพบรังผึ้งเขาเอาหนังสติ๊กขึ้นมาเตรียมยิง นายต้นไม้ร้องห้ามแต่เขาไม่ฟังเสียง เขายิงไปยังรังผึ้ง ผึ้งแม่ลูกพยายามบินหนีก็ไม่พ้นจึงต้องปกป้องตัวเองด้วยการรุมต่อยเด็กชาย

เด็กชายร้องไห้ ผึ้งขอสัญญาว่าจะไม่ทำและจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้ผึ้งจะไม่วางใจแต่ก็ให้โอกาสเด็กชาย

ละครผึ้งแตกรังก็จบลงแค่นี้

ทั้งผู้แสดงและผู้ชมต่างสนุกสนานหัวเราะรื่นเริง

นักศึกษาสรุปกันว่า พวกเขาได้รับรู้เทคนิคการทำงานของฟาริดา รู้สึกพิเศษมากที่การพบกันครั้งแรกของพวกเขาและน้องๆ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและมีพลังที่จะสร้างสรรค์งานร่วมกัน การทำละครที่คิดเรื่องจากสิ่งที่มีอยู่ในสวนจนเป็นบทละครและการแสดง

และแล้วเหยิมเหยิมการละครก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และหวังว่าจะมีครั้งต่อๆ ไป สถานที่และบรรยากาศของเหยิมเหยิมการ์เด้น พร้อมเปิดสำหรับผู้จะทำกิจกรรมสร้างสรรค์…ใครอยากใช้พื้นที่ติดต่อมาได้ค่ะ