บอน พืชผักที่มีสาระเรื่องราวและข้อจำกัด

ในบรรดาพืชผักที่คนไทยเราใช้ทำอาหาร มีผักไม่กี่ชนิดที่ระบุว่า มีข้อจำกัดด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ความนิยม หรือด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัว ที่ทำให้มีข้อจำกัดรัดตัวเองไว้ ในทางหนึ่งด้านอาหารการกิน เชื่อว่าผักบางอย่าง เป็นของแสลงสำหรับร่างกายของคนเรา หรือเป็นของที่ไม่เหมาะไม่ควรกิน บางอย่างไม่เหมาะกับคนในกลุ่มหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง เชื่อกันว่า “บอน” เป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่มีข้อจำกัด สำหรับผู้คนที่จะนำมากินเป็นอาหารมากข้อทีเดียว

คำว่า “บอน” ในที่นี้ขอให้หมายถึงพืชชนิดหนึ่ง อย่าเอาไปเป็นคำต่อว่าต่อขานเพื่อนฝูง หรือใครเขาว่า ปากบอน มือบอน ซึ่งกลายเป็นคำด่าว่ากัน เป็นสำนวนไทยแท้แต่โบราณ ของเรานั่นแหละ คนปากบอน คือคนที่ชอบนำเอาคำพูดหรือเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เปิดเผย เอาไปเผยแพร่ต่อให้ความกลับกลายเป็นความกระจ่าง คนมือบอน คือคนที่ชอบจับโน่นนี่ ทำโน่นนี่ บางอย่างที่ไม่ควรทำก็ทำ บางอย่างไม่ควรแตะจับต้อง ก็จับลูบสัมผัสเล่น ชอบขีดเขียนผนังกำแพงรั้ว ต้นไม้สวนสาธารณะ บอกรักเพื่อนบนผนังห้องส้วม ประเภทที่ว่าเป็นคนมือซน พวกคนมือบอนก็ว่าได้

“บอน” เป็นพืชน้ำล้มลุก ชอบขึ้นตามริมน้ำธรรมชาติ มีเหง้าหรือหัว หรือต้น อยู่ใต้ดิน อายุหลายปี มีก้านใบออกจากต้นใต้ดิน สูงยาว 50-100 เซนติเมตร ใบรูปคล้ายหัวใจแต่ใหญ่กว้างมาก กว้าง 20-35 เซนติเมตร ยาว 35-40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบเว้า หน้าใบสีเขียว มีเส้นใบชัดเจน แผ่นใบเรียบ ไม่เปียกน้ำ หลังใบมีนวล แต่ละกอมี 7-9 ใบ ดอกออกจากต้นใต้ดิน เป็นช่อยาวๆ มีกาบดอกสีเหลืองนวล หุ้มดอกยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ดอกเป็นกระเปาะสีเขียว มีแท่งกลางดอก ส่งกลิ่นหอม จะเป็นสื่อล่อแมลงภู่ผึ้งเข้ามาดอมดม เมื่อมีการผสมพันธุ์แล้วจะเกิดเป็นผล มีเมล็ดขยายพันธุ์ได้ แต่ส่วนใหญ่นิยมขยายพันธุ์ด้วยหน่อ ที่แตกจากไหล หรือต้นใต้ดิน

บอนมีหลายประเภท เช่น บอนเขียว บอนจืด บอนจีนดำ บอนท่า บอนน้ำ บอนหวาน บอนคัน บอนสี บอนเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ARACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colocasia Esculenta Sahott

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ บอนที่จะนำมาเป็นอาหารคนเรา ระหว่างบอนหวาน หรือบอนจืด กับบอนคัน ให้ทำความรู้จักต้นบอนแต่ละอย่างให้ดี ตัดมาทำอาหาร เผลอๆ ตัดมาผิดอย่าง ระวังปากคัน มือคัน จนถึงแพ้พิษคัน ปากเจ่อ ปากบวม กินหลามบอน แกงบอนไม่อร่อยแน่ ใบและก้านของบอนหวานมีสีเขียวสด หรือเขียวคล้ำอมน้ำตาล ไม่มีนวลเคลือบผิวใบก้าน ดอกมีกลิ่นหอม มีแมลงตอม ส่วนบอนคัน ใบก้านมีสีเขียวนวล มีนวลเกาะตามใบ ก้าน ไม่มีแมลงตอมดอก ไม่เหลียวแล เมื่อใช้มีดคมๆ ตัดก้านทิ้งไว้ 5 นาที ถ้ามียางหรือรอยแผลสีเขียวอมน้ำเงิน นั่นคือบอนคัน ส่วนบอนหวานจะไม่มีสีใดใด หรือถ้าตัดก้านใบ นำมาทาหลังมือ สัก 2-3 นาที จะรับรู้สัมผัสได้ บอนคันก็จะคันหลังมือ บอนหวานเฉยๆ ธรรมดาๆ

บอนที่กินได้ และเป็นที่นิยมกันอยู่ทั่วไปเกือบทุกภูมิภาค ที่ให้น่าสังเกต เวลามีการจัดงานบุญงานบวชงานมีคนมาร่วมกันอยู่มากมาย อาหารที่เจ้าภาพจัดเลี้ยงคือ “แกงบอน” ชาวบ้านจะระดมคนออกไปตัดบอนมาจากแหล่งน้ำสะอาด ที่มีอยู่ใกล้ชุมชน เอารถยนต์ไปบรรทุกมาเป็นคันรถ นำมาแกงกะทิ ใส่ส่วนประกอบ เช่น หนังหมู หนังวัว หนังควาย หรือเนื้อสัตว์หลายอย่าง แกงก้านบอนที่ตัดเป็นท่อนๆ ปอกเปลือก ใส่น้ำส้มมะขาม หรือใบอ่อนมะขาม ใบอ่อนส้มป่อย หรือผลมะกรูด ให้มีรสเปรี้ยว น้ำส้มจากมะขาม หรือจากยอดส้มป่อยจะช่วยป้องกันยางบอนที่อาจจะทำให้เกิดความคันได้ เพิ่มรสชาติให้อร่อยกลมกล่อม

ส่วนน้ำพริกแกงก็เป็นน้ำพริกแกงป่า แกงส้ม พริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ เกลือ กะปิ ปลาร้า กะทิ ผงปรุงรส แค่นั้น มีหลายพื้นที่ใช้กระบอกไม้ไผ่แทนหม้อแกง ตั้งเผาหรือย่างไฟ เป็น “หลามบอน” แต่ไม่นิยมใส่กะทิ นิยมใช้ใบบอนอ่อน ที่ยังห่อตัวเป็นม้วน และไม่นิยมให้มีน้ำแกงมาก ผลงานอาหารที่ออกมาจะเป็นแกงแบบข้นๆ ออกเหนียวเหนอะเป็นคล้ายดินเลน แต่รสชาติสุดยอดอร่อย หย่อยอยากให้ลองชิมกันดู

บอนคัน ก็เป็นอีกอย่างที่ชาวบ้านนำมาประกอบเป็นอาหาร เขามีวิธีเก็บ วิธีปรุง ทำให้ได้อาหารที่สุดแสนอร่อย ซึ่งหลายคนไม่มีโอกาสหรือเคยลิ้มชิมรส บอนหวานทำอาหารได้ง่าย แต่บอนคันซึ่งมีสารชนิดหนึ่ง คือ calcium oxalate ทำให้คัน ชาวบ้านเขามีวิธีไม่ให้สารนี้ออกฤทธิ์ได้ ก่อนการปรุงอาหาร เขาต้องต้มเคี่ยวด้วยน้ำธรรมดา แล้วคั้นน้ำทิ้งก่อน 2-3 ครั้ง หรือใช้วิธีเผาไฟก่อน แล้วจึงต้มน้ำและคั้นน้ำออก แล้วปรุงเป็นอาหาร เป็นแกงส้มบอน แกงกะทิบอน หรือทำเป็นอ่อมบอน แต่ที่จำเป็นก็ต้องใส่ของที่มีรสเปรี้ยว ลงไปด้วย เพื่อช่วยตัดพิษคัน เช่น ส้มป่อย ยอดมะขาม น้ำมะกรูด อย่างที่แนะนำไว้ตอนต้น

นอกจากเป็นอาหารคนแล้ว มีบอนหลายชนิดที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น บอนสี มีการประกวดแข่งขันบอนสีสวยงาม บอนดำ นิยมนำมาจัดสวนหย่อม ในสมัยก่อน นิยมไปตัดบอนน้ำเอาทั้งก้าน ใบ ทั้งแก่ อ่อน มาสับๆ ใส่ปี๊บต้มรวมกับหยวกกล้วย ต้นใบผักโขมหนาม เศษใบผักอื่นๆ ปลายข้าว ผสมรำข้าว เลี้ยงหมูบ้าน หรือหมูดำ มีเผื่อแผ่ให้ไก่บ้านจิกคุ้ยกิน อิ่มแต่ละมื้อแต่ละวันได้อย่างดี ทุ่นต้นทุนค่าอาหารได้มากกว่าสมัยเลี้ยงอาหารกระสอบได้เป็นไหนๆ หมู ไก่ก็เจริญอาหาร และที่สำคัญเป็นหมู ไก่อินทรีย์อย่างแท้จริงด้วย