เผยแพร่ |
---|
กรมส่งเสริมสหกรณ์แจงเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์กรณีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เป็นหลักปฏิบัติทางบัญชี เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันกับสหกรณ์อื่น ต้องมีความรัดกุม พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้คืนประกอบการตัดสินใจให้กู้เงินหรือนำเงินไปฝากกับสหกรณ์อื่นด้วย หวั่นเสี่ยงหนี้สูญ และเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงถึงการออกเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งดำเนินไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 เรื่องการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ขณะนี้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มีหนังสือชี้แจงแนวทางในการปฏิบัติ ทางบัญชีสหกรณ์มีการดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันกับสหกรณ์อื่น ไปยังประธานกรรมการสหกรณ์ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจแทนนายทะเบียนสหกรณ์ในการดูแลด้านการบัญชี ในการกำหนดแนวทางการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันของสหกรณ์ เช่น การฝากเงิน การรับฝาก การให้เงินกู้ การลงทุน และการถือหุ้น หากถึงวันสิ้นปีทางบัญชีสหกรณ์ไม่สามารถถอนคืนเงินฝาก เงินลงทุนหรือเก็บหนี้คืนได้ เท่ากับสหกรณ์นั้นเกิดความเสียหายและส่งผลกระทบมาถึงตัวสมาชิกสหกรณ์ด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องไปหักลบกับรายได้ของสหกรณ์ เพื่อย้ำเตือนให้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการนำเงินไปฝากหรือลงทุนกับสหกรณ์อื่น ต้องดูว่าสหกรณ์นั้นมีความมั่นคงทางการเงินหรือมีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้หรือไม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ในอนาคต
ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบัน สหกรณ์มีการดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน โดยไม่มีการตรวจสอบสถานะทางการเงินและพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้คืน จึงต้องมีการกำกับดูแลอย่างรัดกุม แม้จะถูกมองว่า เป็นการใช้หลักเกณฑ์แบบสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ แต่หากพิจารณาอย่างมีเหตุผล จะพบว่า ปัจจุบันสหกรณ์ดำเนินธุรกรรมทางการเงินเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ คือ การรับฝากเงินและการปล่อยเงินกู้ จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องใช้เกณฑ์กำกับดูแลตามหลักมาตรฐานสากล
“ การเอาเงินไปฝากสหกรณ์อื่นเป็นการช่วยเหลือกันในขบวนการสหกรณ์ แต่ต้องไม่ลืมว่าว่าการจะเอาเงินไปฝากหรือให้สหกรณ์อื่นกู้ต้องพิจารณาสหกรณ์ที่เรานำไปให้กู้ถึงความมั่นคงของสหกรณ์นั้นและความสามารถในการใช้หนี้คืนหรือสามารถคืนเงินฝากให้กับสหกรณ์ที่เอาเงินไปฝากได้ กรมฯจึงได้ออกร่างระเบียบเกี่ยวกับการให้ กู้แก่สหกรณ์อื่นหรือเอาเงินไปฝากสหกรณ์อื่น โดยกำหนดไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ให้กู้หรือผู้ฝากเงิน เพื่อให้สหกรณ์กระจายการฝากหรือการให้กู้ออกไปหลาย ๆ ที่ เพราะนำเงินไปฝากไว้กับสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งเพียงแห่งเดียว หากสหกรณ์นั้นมีปัญหา สหกรณ์ที่เอาเงินไปฝากก็จะได้รับผลกระทบและเสียหายตามไปด้วย” รองอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันสหกรณ์เติบโตมาก สหกรณ์บางแห่งอาจมีสินทรัพย์หลายหมื่นล้านบาท หากไม่มีการกำกับดูแลที่ดี แล้วเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือตัวสมาชิกผู้ถือหุ้นและมีเงินฝากในสหกรณ์ที่ได้รับความเสียหายไปด้วย นอกจากนี้ ในการนำเงินของสหกรณ์ไปลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุนต่าง ๆ ก็ต้องระวังความเสี่ยงเรื่องการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย และควรกระจายการลงทุน ไม่ลงทุนที่ใดที่หนึ่งมากจนเกินไป แม้ว่าการลงทุนดังกล่าวจะเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ และเป็นไปตามพรบ.สหกรณ์ 2542 ก็ตาม แต่สหกรณ์เองก็ต้องป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเกณฑ์กำกับที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกเกณฑ์ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกผู้ฝากเงินและถือหุ้นในสหกรณ์ และเป็นเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน