ผู้เขียน | หมอกควัน |
---|---|
เผยแพร่ |
ทส.เดินหน้าแก้ไขปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมเน้นการนำเทคโนโลยี 4.0 เพิ่มประสิทธิภาพดับไฟ-ลดควัน ใต้แนวคิด “ไทยนิยม สู้ไฟ ปลอดควันไฟ ยั่งยืน”
เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวเปิดงานวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “ไทยนิยม สู้ไฟ ปลอดควันไฟ ยั่งยืน” มีเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มต่างๆ อ.แม่สอด จ.ตาก ชาวพม่า ชนเผ่ากะเหรี่ยงมาร่วมงานประมาณ 3,000 คน
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในช่วง ฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม – เดือนเมษายนของทุกปี พบปัญหาหมอกควันไฟป่า มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองในพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน บดบังทัศนวิสัย และเป็นอุปสรรคในการคมนาคมและขนส่ง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศป่าไม้รวมทั้งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ ซึ่งความรุนแรงของปัญหาปรากฏชัดเจนในช่วงฤดูแล้ง เดือนธันวาคม – เมษายนของทุกปี ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน และจังหวัดตาก ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่าเป็นประจำทุกปี
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากสถิติหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 พฤษภาคม 2560 ตรวจพบจุดความร้อนสะสม หรือ จุด ฮอตสปอต จำนวน 18,601 จุด พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 4,294 จุด คิดเป็นร้อยละ 23 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,311 จุด คิดเป็นร้อยละ 18 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด และพื้นที่เกษตรกรรม 10,996 จุด คิดเป็นร้อยละ 59 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด พบมากที่สุดที่ จ.ตาก 562 จุด จ.แม่ฮ่องสอน 506 จุด และ เชียงใหม่ 396 จุด โดยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในการดูแลของกรมป่าไม้เกิดไฟป่า 1,126 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 37,714 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เกิดไฟป่า 91 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 420 ไร่ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556 พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายอรรคพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2561 ตรวจพบจุดความร้อนสะสม 7,540 จุด พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1,139 จุด คิดเป็นร้อยละ 15 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 580 จุด คิดเป็นร้อยละ 8 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด และพื้นที่เกษตรกรรม 5821 จุด คิดเป็นร้อยละ 77 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด ซึ่งพบมากที่สุดในจังหวัดตาก 274 จุด จังหวัดเชียงใหม่ 168 จุด และจังหวัดเชียงราย 92 จุด
“สำหรับการจัดงานในปีนี้ ทส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ และมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์การป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อเพลิง ยุทธศาสตร์การ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า และยุทธศาสตร์การดับไฟป่า พร้อมนำเทคโนโลยี 4.0 มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมกิจกรรมทั้งจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 3,000 คน โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ร่วมงาน ปล่อยขบวนยุทธการดับไฟป่าในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยี 4.0 พร้อมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การจัดทำแนวกันไฟ รวมทั้งกิจกรรมการลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยนำกิ่งไม้ ใบไม้ หรือวัชพืช มาทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก และส่งเสริมการจัดตั้งโครงการธนาคารกิ่งไม้ใบไม้ในพื้นที่ ซึ่งในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา ทส.ได้ประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันกำจัดเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูไฟป่า ด้วยมาตรการชิงเผาพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการเกิดไฟป่าทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และมาตรการการนำเชื้อเพลิงในป่ามา”นายอรรคพล กล่าว และว่า ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง งดการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดความรุนแรง และแก้ไขปัญหาไฟป่าวิกฤติมลพิษหมอกควันในภาคเหนือ ให้ประสบผลสำเร็จ หากพบเห็นไฟป่าสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สายด่วนไฟป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : มติชนออนไลน์